Saturday, June 7, 2014

มาเรียนหรือมาทำงาน

รุ่นพี่ผมเคยบอกผมตอนที่เริ่มเรียนไปได้สักพักว่า คนที่มาเรียนต่อที่นี่มีอยู่ 2 แบบ คือมาเรียน และมาหางาน (ในสายงานที่เรียน) บางคนมาเรียนเพื่อที่จะให้ได้ใบปริญญา และบางคนมาเรียนเพื่อเป็นใบเบิกทางในการทำงานในสายงานที่นี่ การจะมาเรียนแบบไหนไม่สำคัญตราบเท่าที่คุณไม่ลืมว่าเป้าหมายในการมาเรียนที่นี่ของคุณคืออะไร เอาล่ะ ถ้าคุณตั้ีงใจจะมาเรียนเพื่อหางานผมมีคำแนะนำบางอย่างให้

การจะก้าวเข้ามาในอุตสหกรรมได้ สิ่งสำคัญอันดับแรกคือก้าวแรก จะก้าวแรกสู่สังเวียนรึสู่ที่ไหนไม่สำคัญ ตราบเท่าที่คุณสามารถก้าวเข้ามาอยู่ในสายงานที่คุณหาได้ ทีนี้การที่จะมาก้าวแรกหลังจากเรียนจบนี่อาจจะเป็นก้าวที่ยากเสียหน่อย เพราะบริษัทส่วนมากเขามักจะต้องการคนที่มีประสบการณ์ในการทำงานมาบ้างแล้ว จะกี่ปีก็ว่าไป 
แล้วถ้าเราไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำงานมาก่อนล่ะ จะทำยังไงดี คำตอบที่ง่ายๆน่าจะเป็น ก็ไปหาประสบการณ์ในการทำงานสิ อาจจะเริ่มจากการทำโปรเจคนักเรียนด้วยกัน หรือบางโรงเรียนจะมีการทำ Elaborative Project โดยเป็นการรับงานจริง ใช้จริง จากบริษัทจริงๆ ให้นักเรียนจริงๆรวมกลุ่มกันทำงานตั้งแต่ต้นจนเสร็จออกมาสมบูรณ์ ภายใต้การควบคุมของโปรดิวเซอร์จากบริษัทจริงๆ แน่นอนว่างานนี้ทำฟรีไม่มีค่าจ้างจริงๆให้จับต้อง สิ่งที่คุณจะได้กลับมาคือประสบการณ์และพอร์ทเพิ่มขึ้นมาอีกชิ้นที่มีเครดิตว่าได้ใช้งานจริง

แต่ถ้าคุณอยากทำที่บริษัทจริงๆ สถาพแวดล้อมแท้ๆ ไม่ใช่ห้องแลปที่โรงเรียนล่ะ จะมีใครที่ไหนรับเด็กจบใหม่หรือยังไม่จบมาทำงานไหม ผมขอแนะนำให้ใช้วิธีเริ่มง่ายๆด้วยการฝึกงาน

การฝึกงาน(ในสายที่ผมเรียนนะ)ที่อเมริกาจะต่างกับที่ไทยคือ ไม่ใช่ว่าคุณจะไปขอจดหมายหัวเรื่องและให้ทางภาควิชาเซ็นรับรองว่าคุณเป็นนักศึกษาจากที่นี่ มาทำเรื่องขอฝึกงานเพื่อประโยชน์ในการประกอบวิชาในภายภาคหน้าหรือจำเป็นต้องมาฝึกอย่างเสียมิได้ ไม่งั้นหนูจะเรียนไม่จบอาจารย์ก็ด่า ที่บ้านก็ไม่ให้อภัย ฯลฯ วิธีที่ว่ามาทั้งหมดใช้ไม่ได้กับที่นี่
ถ้าคุณอยากฝึกงานคุณก็ต้องจัดการด้วยตัวเอง โรงเรียนไม่ได้บังคับ จริงอยู่ว่าบางโรงเรียนคุณสามารถใช้การฝึกงานเป็นหน่วยกิตที่โรงเรียนได้ แต่ผมไม่แนะนำ เรื่องอะไรจะต้องมาเสียค่าหน่วยกิตแพงๆแลกกับการฝึกงานเล่า สู้ฝึกงาน(เพราะอยากฝึก) แล้วเก็บหน่วยกิตไปลงวิชาที่เป็นประโยชน์ไม่ดีกว่าหรือ เอาเป็นว่าตอนนี้คุณอยากฝึกงานละ คุณควรจะทำยังไงต่อ สิ่งสำคัญอันดับแรกเลยคือ

เดโมรีล 

รุ่นพี่เคยแนะนำผมว่า เราควรจะทำเดโมรีลทุกครั้งหลังจบเทอม เพื่อเป็นการอัพเดทงานและเช็กว่าฝืมือเราพัฒนาขึ้นจากเทอมก่อนขนาดไหน เดโมรีลที่ดีไม่ควรมีขนาดยาวมากยิ่งสมัยยูทูปแบบปัจจุบันความอดทนของคนก็สั้นลง ตัวผมเองตอนส่งเดโมรีลมาสมัครเรียนที่นี่ ผมส่งเดโมรีลที่มีความยาวเกือบ 10 นาทีไปและเมื่อเปิดให้ไดเรกเตอร์ดู แน่นอนว่าเขาดูไม่จบ เดโมรีลของผมในตอนนั้นคือการจับยัดงานทุกชิ้นที่เคยทำมาตั้งแต่เกิด(และหัด3D) มาให้เข้าดู สิ่งที่ได้คือความเปะปะและไม่มีจุดที่จะให้คนที่ดูงานของเราเข้าใจว่าเรากำลังนำเสนออะไร จากการคุยกับเพื่อนและปรึกษาเรื่องเดโมรีลกับรุ่นพี่หลายคนทำให้ได้ข้อสรุปว่าเดโมรีลไม่ควรเกิน 3 นาที เพราะหากนานกว่านั้นความสนใจของคนจะถูกสิ่งอื่นเบี่ยงเบนไป เช่นคลิปยูทูปที่ดูค้างไว้หรือกระทู้ที่ยังอ่านไม่จบ ดังนั้นเดโมรีลควรจะสั้น ชัดเจนและโชว์ให้คนที่ดูจับได้ว่าจุดเด่นของงานคุณคืออะไร เช่นถ้าคุณเป็นโมเดลเลอร์ สิ่งสำคัญคือคุณควรเลือกงานที่แสดงความสามารถในการปั้นของคุณได้ชัด หรือถ้าเป็นอนิเมเตอร์สิ่งสำคัญคือแสดงให้เห็นว่าฝีมือและความเข้าใจในการอนิเมทเป็นอย่างไร  และเมื่อเรามีเดโมรีลแล้วเราก็พร้อมที่จะร่อนอีเมลไปสมัครงานตามที่ต่างๆได้ 

เดี๋ยวยังก่อน ยังขาดสิ่งสำคัญไปอีกนิดนัดคือ จดหมายแนะนำตัว (cover letter) และ ประวัติการทำงาน (resume) 2 สิ่งนี้อาจดูเป็นเรื่องเผินๆไม่น่าจะมีอะไร แต่ก็มีความสำคัญเหมือนกันชนิดที่ว่าโรงเรียนที่ผมเรียนซึ้งเป็นโรงเรียนอาร์ทโดยเฉพาะนั้น มีการเปิดคลาสสำหรับการเขียนเจ้าจดหมายแนะนำตัวและประวัติการทำงานเลย (แน่นอนว่ารวมดึงเดโมรีลด้วย) โดยส่วนมากเนื้อหาของ cv ก็คือเนื้อหาของอีเมลที่เราส่งไปสมัครงานนั่นเอง ส่วนเดโมรีลกับเรซูเม่นั้น คุณอาจทำเป็นลิ่งค์ส่งไปยังเวบไซท์พอร์ทของคุณหรือจะแนบเป็นไฟล์ท้ายอีเมลไปก็ได้ และเท่านี้คุณก็พร้อมที่จะหางานแล้ว

เรื่องที่สำคัญสำหรับนักเรียนต่างชาติที่ต้องการจะหางานในสายอาชีพ หลังเรียนจบคือ เรื่องของวีซ่าทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก หากคุณไปทำงานโดยที่มีแต่วีซ่านักเรียน แล้วไม่มีวีซ่าทำงาน นายจ้างคุณจะไม่สามารถรับคุณเข้าโดยถูกกฏหมายได้เลย  
แล้วเราจะทำยังไงถึงจะได้วีซ่าทำงานล่ะ
คำตอบคือให้นายจ้างออกให้ โดยตัววีซ่าทำงานยอดนิยมสำหรับนักศึกษาทั้งปริญญาตรีและปริญญาโทคือ วีซ่า H1B ซึงมีโควต้าต่อปีในจำนวนจำกัด(ควรจะเช็กจำนวนโควต้าปีต่อปีเผื่อมีการอัพเดท) โดยจะมีจำนวนนึงเก็บไว้ให้สำหรับปริญญาโทโดยเฉพาะ ตัววีซ่าจะเริ่มเปิดให้ทำการยื่นเรื่องตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนและช้าสุดคือเดือนสิงหาคม จากนั้นจะเริ่มทยอยออกให้ช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งถึงคุณจะยื่นเรื่องในช่วงระยะเวลาดังกล่าวแต่ถ้าจำนวนโควต้าของวีซ่า H1B หมดแล้ว คุณก็ไม่สามารถจะขอวีซ่าดังกล่าวได้

ทีนี้ปัญหาก็จะมีอยู่ว่าถ้าเราไม่ได้ทำงานให้นายจ้างเห็น เขาจะกล้าออกวีซ่าทำงานให้เราทันทีที่เรียนจบเลยหรอ  ถ้าคุณมีความสามารถเตะตาตั้งแต่แรกพบและนายจ้างของคุณพร้อมที่จะสนับสนุนอยู่แล้ว เรื่องนี้คงไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าไม่ล่ะ คุณอาจต้องการเวลาสักช่วงนึงในการพิสูจน์ตัวเองให้นายจ้างคุณเห็น ด้วยเหตุนี้สำหรับนักศึกษาทั้งปริญญาตรและปริญญาโทในช่วงก่อนเรียนจบ เราสามารถดำเนินการขอใบอณุญาตทำงานชั่วคราวหรือ บัตร Optional Practical Training (OPT) ได้ โดยโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลจะสามารถทำเรื่องขอบัตร OPT นี้ให้เราจาก  United States Citizenship and Immigration Services (USCIS)ได้ ซึ่งคุณควรเช็กตั้งแต่ตอนสมัครเลยว่าโรงเรียนที่เราไปเรียนสามารถออกตัว OPT ให้ได้ไหม (ในกรณีที่คิดจะหางานตามสายงานต่อ) และควรทำเรื่องขอล่วงหน้า 1 เทอมก่อนเรียนจบ เพราะขั้นตอนบางอย่างอาจกินเวลาหลายเดือนและจะขอเร็วขอช้าก็ไม่มีผลเพราะในบัตร OPT จะกำหนดว่าเราสามารถเริ่ม OPT period (ระยะเวลาที่ใช้ได้คือ 1 ปี)ได้ตั้งแต่ตอนไหน โดยเร็วสุดคือ 2 อาทิตย์หลังจบและช้าสุดคือไม่เกิน 1-2 เดือนหลังจบ 
การขอเริ่มเร็วเริ่มช้าก็มีผลอีกเหมือนกัน การขอเริ่มเร็วเราก็สามารถเริ่มงานได้เร็วแต่ระยะ OPT ก็จะหมดเร็วเหมือนกัน เพื่อนผมบางคนทำเรื่องขอ OPT โดยให้เริ่มช้าที่สุดเพื่อที่จะได้กินเวลาอยู่ให้นานที่สุด แต่ก็มีบางกรณีที่เริ่มระยะ OPT ช้าแต่บริษัทที่เรียกไปสัมภาษณ์อยากได้คน ณเดี๋ยวนั้น ถ้าทางบริษัทรอได้ก็โชคดีไป แต่ถ้ารอไม่ได้ คุณก็พลาดโอกาสไปอย่างน่าเจ็บใจ
สมัยที่ผมเรียนจบนอกจากช่วงระยะเวลา OPT ที่มีแค่ 1 ปีแล้ว ยังมีการออกกฎเพิ่มขึ้นมาอีกว่า ถ้าไม่สามารถหางานได้ภายใน 3 เดือนนับจากวันที่ระยะ OPT เริ่ม จะถือว่าระยะ OPT นั้นหมดสภาพทันที ซึ่งหลังจากกฎนี้ออกมานักเรียนต่างชาติทั้งหลายแหล่ต่างพากันทักท้วงและโอดครวญ การหางานที่ปกติก็แข่งขันกันสูงอยู่แล้วนี่ยังต้องมาแข่งกับเวลาเพิ่มอีกหรอ ผมเห็นเพื่อนบางคนต้องกลับประเทศอย่างน่าเสียดาย แต่ปีถัดมาทาง USCIS ก็ออกกฎใหม่เพิ่มขึ้นมาว่าผู้ที่ครอง OPT ในสายงานอาชีพเฉพาะตามที่กำหนดสามารถยีดระยะเวลา OPT หลังจากจบช่วงแรกออกไปได้อีก 17 เดือน (ตามเงื่อนไขที่กำหนด) ข่าวนี้สร้างความยินดีให้แก่เหล่านักเรียนต่างชาติกันมากและทำให้การหางานคลายความกดดันมากขึ้น คือจากที่ต้องมากังวลเรื่องวีซ่าตั้งแต่ตอนสมัครงาน คุณสามารถไปกังวลเรื่องนี้ได้ในอีกปีข้างหน้าแทน ปัจจุบันผมไม่แน่ใจว่ากฎของ OPT เป็นอย่างไร ถ้าใครสนใจควรจะเข้าไปหาข้อมูลจากเวบไซท์ของทางการ USCIS เพิ่มจะอัพเดทกว่า
ทีนี้เมื่อเราได้ OPT มาเรียบร้อยสิ่งต่อไปที่จำเป็นในการทำงานคือ เรื่องของเงินเดือน ที่อเมริกาจะมีการจ้างงานแบบประจำและชั่วคราว โดยถ้าเป็นจ้างงานแบบประจำเรทเงินเดือนจะเป็นต่อปี เช่น XX,XXX/ปี คุณก็ลองไปหารดูว่าต่อเดือนจะได้เท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นแบบชั่วคราวเรทเงินเดือนที่ได้จะเป็นรายชั่วโมง  หลังคุยกับบอสเรื่องสัญญาการจ้างงานและเงินเดือนเรียบร้อย สิ่งต่อมาที่จำเป็นในการรับเงินเดือนก็คือเลขประกันสังคม Social Security Number (SSN) ซึ่งหากเราไม่มีเราจะไม่สามารถรับเงินเดือนที่ถูกต้องตามกฏหมายได้ เพราะจะมีผลตามมาตอนที่เราทำเรื่องภาษี ขั้นตอนการทำเรื่องขอ SSN นี้เราจะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อเราได้บัตร OPT มาแล้ว ดังนั้นเมื่อได้บัตร OPT มาแล้วอย่ามัวโอ้เอ้ครับ รีบเตรียมเอกสารตามที่กำหนดและไปที่ Federal building ประจำเมืองของคุณเพื่อที่จะทำเรื่องขอเจ้าเลขประกันสังคมนี้ซะ เพราะขั้นตอนนี้อาจกินเวลาอีก 1-2 เดือน การรับเงินอาจจะมีปัญหาได้ เมื่อเรามีพร้อมทั้ง OPT และ SSN เราก็พร้อมที่จะทำงานและรับเงินเดือนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย   
หลังจากนั้นเมื่อเงินเดือนๆแรกออก(ที่อเมริกาส่วนมากจะนิยมจ่ายเงินกันทุกๆ 2 อาทิตย์) คุณอาจจะตกใจว่าทำไมมันไม่ได้เท่าที่คุยกันไว้แต่แรก ทั้งนี้เพราะภาษีนั่นเอง และที่อเมริกาภาษีนี่เป็นเรื่องจุกจิกมาก ทั้งภาษีทั่วไป ภาษีรัฐ(ขึ้นกับแต่ละรัฐ) ภาษีประกันสังคม เงินเดือนคุณอาจจะหายไปกว่า 1 ใน 3 เลย แต่ถ้าคุณถือใบ OPT อยู่ คุณสามารถยื่นเรื่องขอลดหย่อนภาษีประกันสังคมได้ โดยจะให้หักไปก่อนแล้วค่อยคืนช่วยท้ายปีหรือจะให้ไม่หักตั้งแต่แรกเลยก็ได้ คุณก็จะได้เงินในส่วนนี้คืนมานิดหน่อย(แต่ก็ดีกว่าไม่ได้คืน) จนกว่าคุณจะเปลี่ยนสถานะไปเป็นวีซ่าทำงานเมื่อนั้นก็จะโดนหักเหมือนเดิม
จากนั้นเมื่อทำงานไปได้สักพัก ผมแนะนำให้คุณลองเลียบๆเคียงๆถามบอสดูว่า สนใจจะทำวีซ่าทำงานให้ผมมั้ยถ้าระยะ OPT ผมหมดก็ต้องกลับประเทศแล้วนะ ถ้าทางบอสเห็นว่าคุณเป็นกำลังสำคัญ(หรือถ้าไม่สำคัญก็พยายามทำตัวให้สำคัญซะก่อนจะไปคุย) เขาก็จะทำเรื่องขอวีซ่าให้คุณเอง ขั้นตอนนี้ยุ่งยากและต้องเตรียมเอกสาร บริษัทส่วนมากจะจ้างทนายในการดำเนินการ (คือจะทำเองก็ได้แต่มีการระบุไว้ชัดเจนว่าหากยื่นเอกสารผิดจะไม่มีการคืนเงินค่าดำเนินการให้) ถ้าทางบริษัทคุณจัดการเรื่องทุกอย่างให้ก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่ถ้าไม่ล่ะ บอสคุณปฏิเสธที่จะทำเรื่องวีซ่าให้คุณ คุณก็มีทางเลือกคือทำงานที่บริษัทนั้นต่อจนหมด OPT หรือออกไปหาบริษัทที่สนใจจะทำเรื่องขอวีซ่าให้คุณ หรือไม่งั้นก็ ยื่นเรื่องมันเองซะเลย
บางบริษัทไม่ค่อยทำเรื่องขอวีซ่าให้แก่นักเรียนต่างชาติจบใหม่เท่าไหร่นัก แต่ผมก็เห็นเพื่อนหลายคนเมื่อทางนั้นไม่เสนอ เราก็สนองเข้าไปเองเลย บางคนก็เสนอกับบริษัทว่าจะออกเงินกันคนละครึ่งแล้วให้บริษัทช่วยยื่นเรื่องขอวีซ่าให้ หรือบางคนออกเงินให้บริษัททั้งหมดเลยแลกกับการทำเรื่องขอเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ก็ขึ้นกับสถานการณ์และงบประมาณของแต่ละคน

เมื่อคุณเข้าใจขั้นตอนการหางานทั้งหมดก็ฟังดูไม่ยากเลยใช่ไหมครับ เพียงแค่หมั่นฝึกฝนฝีมือและทำความเข้าใจเรื่องเอกสารและขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆแล้ว คุณก็พร้อมที่จะออกหางานได้ แต่อย่าเพิ่งลืมสิ่งสุดท้ายที่สำคัญพอๆกับฝีมือของคุณเลย นั่นคือดวงและจังหวะ หากคุณเก่งเทพแต่ช่วงนั้นจังหวะหางานไม่ดี โอกาสนั้นอาจไม่โผล่มาเยี่ยมเยียนคุณเลย หรือหากคุณพร้อมทุกอย่างและบริษัทตกลงทำเรื่องขอวีซ่าให้คุณเรียบร้อย ก่อนจะพบว่าโควต้าปีนั้นหมดแล้วด้วยสาเหตุที่ว่าคุณยื่นเรื่องช้าไปเพียงไม่กี่วัน เหตุการณ์เช่นนี้สามารถเกิดได้กับทุกคนและทุกที่ ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาท หมั่นทำบุญและแผ่เมตตากันเป็นประจำนะครับ 

สาธุ


No comments:

Post a Comment