Monday, June 16, 2014

มารยาทพื้นฐาน

ซานฟรานซิสโกเป็นเมืองที่รวมผู้คนมาจากหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งยุโรป อเมริกา และเอเชียทำให้มีความแตกต่างกันในหลายๆเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัฒนธรรมของแต่ละชาติ จะเห็นได้จากงานฉลองของแต่ละประเทศในเมืองนี้ ไม่ว่าจะเป็นวันคริสมาส วันตรุษจีน วันเซนท์แพทริค day of the dead แต่ทั้งหมดก็อยู่ร่วมกันได้ด้วยการปรับตัวเข้าหากัน เรื่องบางเรื่องก็เป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันมานานจนเป็นวัฒนธรรมหรือมารยาทพื้นฐานที่แม้จะไม่ได้ระบุตายตัวว่าเป็นกฏหมายบังคับใช้ แต่ก็ควรจะปฏิบัติตาม ตอนผมมาใหม่ๆก็มีหลายอย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อนก็มี และนี่คือมารยาททางสังคมทีผมเจอมานะครับ

การไม่พูดภาษาไทยต่อหน้าเพื่อนต่างชาติ ข้อนี้เป็นมารยาทสากลขั้นพื้นฐานเลย แต่เอาเข้าจริงก็ใช้บ้างไม่ใช้บ้างยิ่งถ้าในโรงเรียนที่มีนักเรียนต่างชาติกันทั้งโรงเรียน มักจะเลี่ยงการพูดภาษาชาติเดียวกันเองไม่ได้ ผมเองเคยไปนั่งประชุมงานกับเพื่อนเกาหลีที่เล่นพูดเกาหลีล้วนกัน ก็เลยเริ่มชินกับการนั่งใบ้และไม่ต้องไปสนใจฟัง แต่ถ้าเลือกได้แม้กับชาติเดียวกันเราก็มาฝึกภาษาอังกฤษด้วยกันเถอะ

การเข้าคิว ที่นี่การเข้าคิวถือเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่่คนทุกชนชั้นพึงปฏิบัติ คุณสามารถเห็นการเข้าคิวได้ทุกที่ไม่ว่าจะร้านกาแฟ ร้านอาหาร ป้ายรถเมล์ หรือโบสถ์วันอาทิตย์ที่มีการแจกอาหารฟรี แต่ในบางที่อย่างซูปเปอร์มาเก็ตหรือร้านสะดวกซื้ออาจจะมีวิธีการเข้าคิวที่แตกต่างจากที่ไทยนิดหน่อยคือ ไม่ว่าจะมีแคชเชียร์กี่ที ส่วนมากเขาจะกำหนดให้มีคิวแค่คิวเดียวไม่เหมือนกับร้านสะดวกซื้อบ้านเราที่อยากต่อตรงไหนก็ต่อทำให้แถวเกะกะและมั่วบ้างในบางครั้ง แต่บางที่ในซานฟรานซิสโกการเข้าคิวอาจต้องรักษาสิทธิ์ตัวเองด้วยเหมือนกัน ผมเคยต่อคิวซื้อของที่ตลาดในไชน่าทาวน์ ข้างหน้าผมมีอาม่าอยู่ 2 คน ขอเรียกอาม่า A และ B ตามลำดับ อาม่า A เป็นคิวถัดไปแล้วจึงเป็นอาม่า B แล้วค่อยถึงคิวของผม ผมก็ยืนรอพลางฟังเพลงเถียนมีมี่ที่ร้านนี้เปิดไปเพลินๆ แล้วอยู่ๆก็มีอาม่า C เดินเข้ามาคุยกับอาม่า B ทั้ง 2 อาม่าคุยกันโช้งเช้งดูสนุกกันมาก ทีนี้ด้วยเหตุอะไรไม่ทราบ อาม่า B คงจะเมื่อยเพราะถือของไปคุยไป พอคนข้างหน้าอาม่า A จ่ายตังค์เสร็จ ยังไม่ทันที่อาม่า A จะเอาของๆแกวาง อาม่า B กลับแทรกของตัวเองลงไปตรงหน้าแคชเชียร์ทันทีแล้วหันไปคุยกับอาม่า C ต่ออย่างไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผมประหลาดใจกับการที่อาม่า B แทรกคิวกันระยะเผาขนแบบนี้แต่ยังไม่แปลกใจเท่ากับการที่อาม่า A เอามือปัดของอาม่า B หล่นกระจายลงพื้น ในตอนแรกผมนึกว่าจะได้ดูการรำมวยจีนซะแล้ว แต่อาม่า B เองก็หยิบของที่ตกขึ้นมาแล้วยืนคุยกับอาม่า C ต่อเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เออเว้ย ไชน่าสไตล์ดี

การแง้มประตู สิ่งหนึ่งที่เป็นน้ำใจเล็กๆน้อยๆ แต่ทั้งคนให้และคนรับรู้สึกดีคือ เมื่อคุณเดินเข้าไปที่ไหนสักที่แล้วผลักประตูเข้าไป อยากให้ลองหันมามองข้างหลังสักนิดก่อนจะปล่อยประตูให้ปิด เพื่อป้องกันประตูฟาดหน้าคนที่เดินตามหลังคุณมา และถ้ามีคนตามหลังคุณมา ตามมารยาทที่ดีแล้วคุณควรจะแง้มรอให้เขาเดินผ่านหรือเอามือยันประตูให้เรียบร้อยเสียก่อนจึงปล่อย ในทางกลับกันถ้ามีคุณแง้มประตูรอคุณ อย่าลืมกล่าวขอบคุณทุกครั้งเพราะคนข้างหน้าคุณไม่ใช้พนักงานเปิดประตูให้คุณ และถึงแม้เขาจะเป็นพนักงานเปิดประตูคุณก็ควรกล่าวขอบคุณเขาด้วย

การเช็ดเครื่องออกกำลังกายหลังเล่นเสร็จ เชื่อว่าหลายคนเวลาไปออกกำลังกายที่ยิมคงไม่มีใครอยากโดนเหงื่อของคนแปลกหน้า เครื่องออกกำลังกายที่เปื้อนเหงื่อตามพนักพิง ที่จับ ที่รองขาอันเปียกชุ่ม เป็นคุณก็คงไม่อยากลงไปนั่งทับรอยเหงื่อคนอื่นใช่ไหมล่ะ ยิมที่นี่ส่วนมากจะมีกระดาษไว้ให้เช็ดวางเป็นจุดๆอยู่แล้ว ดังนั้นใช้กระดาษเช็ดทุกครั้งหลังออกกำลังกายเสร็จ

พกเงินสดเท่าที่จำเป็น ที่ซานฟรานซิสโกร้านค้าส่วนใหญ่จะรับบัตร ถ้าเป็นร้านของชำอาจจะมีกำหนดขั้นต่ำไว้ว่าต้องเท่าไหร่ถึงจะใช้ได้ หรือบางที่อย่างร้านในไชน่าทาวน์ที่รับเงินสดอย่างเดียว และที่ร้านสะดวกซื้อแฟรนไชส์อย่าง Walgreen หรือ Safeway คุณสามารถกดเงินจากแคชเชียร์ได้ เช่นสมมติคุณซื้อของราคา 10$ พนักงานจะถามว่าคุณอยากได้ cash back ไหม ถ้าคุณตอบโอเคคุณจะโดนชาร์จเพิ่มเป็น 30$ แต่คุณจะได้เงินสด 20$ กลับมาแทน นอกจากความสะดวกเรื่องใช้บัตรแทนเงินได้แล้ว เวลาคุณโดนปล้นการพกเงินสดน้อยๆก็ทำให้ไม่เสียเงินก้อนในจำนวนมากทีเดียวหมด(ยกเว้นว่าเจ้าโจรมันจะจี้คุณให้ไปกดเงินที่ตู้ atm นะ)

การเก็บถาดอาหารฟาสท์ฟูดหลังกินเสร็จ  คุณอาจจะคิดว่าไม่ใช่หน้าที่เพราะเดี๋ยวก็มีคนมาเก็บให้ ซึ่งแน่นอนว่าที่ร้านย่อมมีพนักงานบริการมาเก็บถาดและเศษอาหารหลังคุณกินเสร็จอยู่แล้ว แต่เหตุที่ควรจะเก็บก็เพราะคุณจะได้เปิดที่ว่างให้คนที่มากินต่อจากคุณมีที่นั่งทันทีโดยเฉพาะเวลาเร่งด่วยอย่างมื้อเที่ยง

การแยกขยะ ที่ซานฟรานซิสโกถ้าคุณเช่าบ้าน คุณสามารถขอถังขยะจากบริษัทที่ให้บริการเก็บขยะรายเดือนได้ โดยเขาจะมีถังขยะให้คุณ 3 ใบ ฟังดูแล้วคิดว่าขยะอะไรมันจะเยอะขนาดนั้นใช่ไหมครับ เจ้าถังขยะ 3 ใบที่ว่าคือถังเขียว ถังดำ และถังฟ้า ที่มีหลายสีก็เพราะว่าแต่ละสีจะเป็นขยะคนละชนิดกันโดยทั้งเขียวจะเป็นของจำพวกขยะสด เศษอาหารต่างๆ ซึ่งเศษอาหารที่จะทิ้งในถุงนี้ห้ามใช้ถุงพลาสติกธรรมดา แต่ต้องเป็นถุงพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ ส่วนมากจะเป็นถุงสีเขียวที่ทำจากซังข้าวโพดซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านฮาร์ดแวร์หรือร้านสะดวกซื้อทั่วไป ถังดำจะเป็นขยะทั่วไป ยกเว้นหลอดไฟหรือถ่านไฟฉาย ส่วนถังฟ้าจะเป็นขยะรีไซเคิลเช่น ขวดน้ำทั้งแก้วและพลาสติก และกระดาษยกเว้นกล่องพิซซ่า ที่จริงอันนี้น่าจะเรียกว่ากฏมากกว่ามารยาทเพราะหากคุณทิ้งผิดและเขาค้นเจอคุณจะโดนค่าปรับย้อนหลังต่างหาก และถ้าวันไหนมีขยะล้นถึง เขาก็จะคิดค่าเก็บเพิ่มต่างหาก ดังนั้นถ้าคุณมีปาร์ตี้แล้วขยะล้นเกินถังผมแนะนำให้เก็บไว้ทิ้งคราวหน้าหรือมัดใส่ถุงให้เป็นระเบียบแล้ววางไว้ข้างถัง หรือถ้าอยากหารายได้พิเศษก็จัดการขนพวกขวดน้ำต่างๆไปแลกเป็นเงินได้ที่ซุปเปอร์มาเก็ต Safeway ใกล้บ้านได้

การใช้รถ ที่ซานฟรานซิสโกมียานพาหนะที่ใช้เดินทางกันในหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นรถโดยสารประจำทาง รถไฟ รถยนต์ส่วนตัว จักรยานยนต์และจักรยาน หัวใจหลักของการใช้ถนนคือการแบ่งปันพื้นที่บนถนน ไม่ใช่เป็นของใครคนหนึ่ง คุณอาจจะเห็นจักรยานวิ่งในเลนจักรยาน และรถเมล์วิ่งในเลนรถเมล์ แต่ถนนบางช่วงที่ไม่มีเลนดังกล่าวก็ไม่ได้จำกัดให้เฉพาะรถยนต์เท่านั้นที่วิ่งได้

การหยุดให้คนข้ามถนนที่ทางม้าลาย สิ่งนี้เป็นมารยาทของคนขับรถที่ควรให้สิทธิ์คนเดินถนนไปก่อน นอกจากนี้ถ้าโดนจับได้ยังเสียค่าปรับอีกนะเออ

อย่าวางของมีค่าไว้ในรถ ในที่ที่ไม่คุ้นเคยหรือเปลี่ยว ไม่ควรจะทิ้งของมีค่าไว้ในรถไม่ว่าจะของอะไรเล็กน้อยแค่ไหนแม้แต่เศษเงิน เพราะคนที่ทุบเขาไม่เสียอะไรเลย บางครั้งค่าซ่อมกระจกยังแพงกว่าของที่หายไปเสียอีก ถ้าจำเป็นต้องไว้จริงๆไว้ที่ที่่เก็บของท้ายรถจะเสี่ยงน้อยกว่า(คืออย่างน้อยคนทุบมันก็ไม่เห็นของล่อตา อาจช่วยลดแรงจูงใจได้ส่วนหนึ่ง)

การเติมน้ำมันเอง ที่อเมริการะบบปั๊มน้ำมันส่วนมากเป็นแบบบริการตัวเอง แม้ผมจะเคยเห็นปั๊มหนึ่งมีเด็กปั๊มบริการแต่โดยปกติแล้วจะไม่มี วิธีการเติมเองไม่มีอะไรยาก คุณแค่จ่ายเงินอาจจะรูดบัตรหรือเดินไปจ่ายที่แคชเชียร์แล้วก็เลือกชนิดน่ำมัน แล้วยกหัวจ่ายเสียบเข้าไปที่ถังน้ำมันของรถคุณ แล้วก็รอ แค่นั้นเองง่ายๆ นอกจากนี้ถ้าอยากเช็ดกระจกรถก็มีบริการที่เช็ดกับน้ำยาให้คุณบริการตัวเองอีกด้วย

ที่จอดรถแฮนดิแคป ถ้าคุณเป็นคนพิการ คุณสามารถขอป้ายคนพิการมาติดที่รถได้ แต่ถ้าคุณไม่ได้เป็นคนพิการคุณไม่มีสิทธิ์จอดรถที่นี่ นอกเสียจากว่าคุณอยากจะโดนสังคมประณามหรือโดนจับและปรับ

การเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ รถรางหรือรถไฟ บางเรื่องแม้ไม่มีกฏห้ามแต่เพื่อความไม่ประมาทเราก็ควรระวังไว้ เช่น การเล่นโทรศัพท์ขณะเดินทาง เวลาผมโดยสารรถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดินที่เมืองไทย ผมมักจะเห็นคนก้มหน้าเล่นโทรศัพท์ของตัวเองโดยไม่สนใจรอบข้างเสมอ บางคนก้มหน้าโดยไม่รู้ว่าตัวเองกำลังบังทางคนอื่นอยู่หรือไม่รู้ว่าศอกที่คุณยกมันไปทิ่มแทงใครอยู่หรือเปล่า และบ่อยครั้งอีกเหมือนกันที่ผมเห็นคนเล่นโทรศัพท์มือถือขณะเดินไปไหนมาไหนตามที่ต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าไอ้การเดินแบบนี้ย่อมเกะกะชาวบ้านหรือไปชนคนอื่นแน่นอน ที่เมืองไทยคุณอาจทำเช่นนั้นได้ แต่ถ้าเป็นที่ซานฟรานซิสโก ผมไม่แนะนำให้ทำเช่นนั้น ไม่ว่าคุณจะกำลังเดินอยู่บนถนนหรือนั่งรถโดยสารสาธารณะประเภทไหนก็ตาม ถ้าเป็นไปได้อย่าเล่นโทรศัพท์โดยไม่สนใจรอบข้างจะดีกว่า ไม่ใช่เพราะห่วงมารยาทหรืออะไร แต่เพราะห่วงในชีวิตและทรัพย์สินของคุณน่ะ ที่นี่ถ้าคุณก้มหน้าเล่นโทรศัพท์โดยไม่สนใจรอบข้าง ขณะที่เดินคุณอาจโดนชกหน้าแบบไม่รู้เรื่องก่อนจะโดนปล้นกันแบบจะๆ หรือถ้าคุณมัวแต่เล่นโทรศัพท์บนรถไฟ ช่วงเสี้ยวเวลาก่อนประตูรถไฟปิดคุณอาจจะโดนคว้ามือถือแล้ววิ่งหายออกจากรถไปทันที หรือแม้แต่วางโทรศัพท์ไว้บนโต๊ะในร้านกาแฟ อาจมีมือดีวิ่งเข้ามาแล้วคว้าโทรศัพท์บนโต๊ะไปก่อนที่คุณจะตั้งสติได้เสียอีก แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้จริงๆ ก็ขอให้ใช้แต่จำเป็นและสังเกตุรอบข้างเสมอ

บนรถโดยสารประจำทางทั้งรถเมล์และรถไฟจะมีที่นั่งสำรองสำหรับคนพิการอยู่ ซึ่งคุณสามารถนั่งได้ตามปกติ แต่หากมีคนพิการขึ้้นมาคุณต้องลุกทันที (หรือไม่ลุกคนขับก็จะลุกมาไล่เอง) บางครั้งคนพิการนั่งรถเข็นขึ้นมา ซึ่งจากรถที่แน่นขนัดกันอยู่แล้วยังต้องพับที่นั่งเพื่อกันที่สำหรับรถเข็นคนพิการอีกทำให้รถยิ่งแน่นเข้าไปใหญ่ แต่ผมไม่เคยเห็นใครโวยวายอะไรในเรื่องนี้เลย

การยืนบนบันไดเลื่อน ที่ซานฟรานซิสโกเวลาขึ้นลงบันไดเลื่อนโดยปกติเขาจะยืนชิดขวากัน และด้านซ้านเปิดช่องไว้สำหรับคนที่รีบให้สามารถเดินได้ ผมเข้าใจว่าหลักการเลือกว่าจะยืนด้านไหนนั้นมาจากการขับรถ คือที่อเมริกาเวลาแซงเขาจะแซงซ้ายและขับรถชิดขวา ผมเลยเข้าใจว่าเขาใช้หลักการเดียวกันนี้ในการยืนบนบันไดเลื่อน ที่สำคัญถ้าใครไปยืนเอ้อระเหยอยู่ฝั่งซ้ายนี่อาจจะโดนดันลงบันไดมาเลยก็ได้

การให้ทิป เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมเคยได้ยินมานานก่อนจะมาที่อเมริกาเสียอีก คือไม่ว่าคุณจะใช้บริการอะไรนอกจากค่าบริการในส่วนนั้นแล้ว คุณยังจะต้องจ่ายทิปอีกด้วย ทิปที่ว่าก็มีหลายเรทตั้งแต่ 15% 18% หรือ 20% ขึ้นกับจำนวนคนที่มาด้วยกัน การบริการที่ว่าก็ยกตัวอย่างเช่น ร้านอาหาร ร้านตัดผม ขึ้นรถแทกซี่ และงานที่ใช้บริการคนต่างๆ แต่แม้จะถือว่าการให้ทิปเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของอเมริกา แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะให้ทิป เพราะเรื่องนี้ไม่ได้ออกมาเป็นกฏหมาย นอกจากบางร้านเองที่ระบุไว้เลยว่าต้องให้ค่าทิปเท่าไหร่ลงมาในบิล คนที่ไม่ให้ทิปทางร้านอาหารอาจจะจำไว้และไม่ให้เข้ามาใช้บริการอีกหรือพนักงานเสิร์ฟอาจจะวิ่งมาตามค่าทิปคุณนอกร้านเลยก็ได้ แต่ก็มีข้อยกเว้นอย่างร้านอาหารญี่ปุ่นบางร้านจะเขียนบอกไว้เลยว่าไม่รับทิปก็มี

การขอบคุณแม้จะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ แต่หากเราติดปากคำนี้ไว้จะทำให้ผู้รับรุ้สึกมีกำลังใจในการทำงานขึ้นก็ได้ ดังนั้นไม่ว่าจะลงจากรถเมล์ ก็อย่าลืมขอบคุณคนขับ (ผมมักจะขอบคุณคนขับรถเมล์รอบดึกเสมอ ที่แม้คนจะน้อยเขาก็มักจะรอผู้โดยสารที่กำลังรีบวิ่งมาขึ้นรถเสมอ) หรือในร้านอาหารทีพนักงานมาเสิร์ฟน้ำให้คุณ คนขับแทกซี่ที่พาคุณมาถึงที่หมายโดยปลอดภัย หรือแม้แต่โฮมเลสที่กล่าวอวยพรแก่คุณในคืนคริสต์มาส ถ้าเรามีน้ำใจแก่กันสังคมก็จะสงบสุข
ขอบคุณครับ

No comments:

Post a Comment