Wednesday, November 12, 2014

โตแล้วไปไหน



"ตอนนั้นเป็นช่วงก่อนที่ผมจะมาอเมริกา และเพิ่งออกจากงานมาเพื่อเตรียมตัวไปเรียนต่อ
วันนั้นผมนั่งอยู่ที่แมคโดนัล ตรงเมเจอร์ซีเนเพล็กซ์ สาขาเอกมัย อาจจะนั่งรอเพื่อนนัดกินข้าวหรืออะไรสักอย่าง หรืออาจจะแค่นั่งอ่านหนังสือเล่นๆ ซึ่งหนังสือเล่มที่ว่าก็คือนิตยสารยอดนิยมฉบับหนึ่ง ผมจำได้ว่าหน้าปกเป็นพื้นสีขาว และมีขวดนมสีชมพูวางอยู่โดดๆ ที่ผมจำได้แม่นเพราะในฉบับนั้นมีบทสัมภาษณ์ของคนๆหนึ่งที่น่าสนใจ เขาเป็นอนิเมเตอร์ไทยที่ทำหนังเรื่อง The Metrix ผมจำบทสัมภาษณ์นั้นได้ขึ้นใจ ได้ถึงขนาดที่ว่าชอตที่เขาอนิเมทนั้นคือชอตที่นีโอควงกระบองสู้กับมิสเตอร์สมิธเป็นฝูงที่ลานว่างหลังจากคุยกับ The Oracle มาบนม้านั่ง และหลังจากจบโปรเจคหนังเขาก็เข้าไปทำงานต่อที่ Blizzard studio"

ผมบอกประโยคข้างต้นให้พี่นนท์ฟัง หลังจากผมและเพื่อนๆพี่ๆน้องๆสายอนิเมชั่น (ภายใต้การนำของพี่ตุลย์ 55) ได้มีโอกาสไปเยี่ยม Blizzard studio ที่ Irvine เมืองเงียบๆไม่ใกล้ไม่ไกลจาก LA เท่าไหร่นัก
เมื่อเดินเข้ามาที่ลานกลางแจ้งก่อนเข้าตึก จะเห็นรูปปั้น Orc ขี่หมาป่าขนาดใหญ่ ยืนชูมือต้อนรับอยู่ จากนั้นเมื่อเข้ามาในส่วนรับรองจะมีห้องแกลลอรี่ขนาดใหญ่ไว้โชว์ภาพวาดและมีอัลบั้ม FanArt ให้ผู้มาเยี่ยมชมเปิดดูได้ ตู้โชว์หลายตู้เต็มไปด้วยเหล่าฟิกเกอร์หลากขนาดจากเกม พี่นนท์พาพวกเราเดินเยี่ยมชมในสตูดิโอ ได้เห็นแผนกแต่ละแผนกที่ประดับประดาไปด้วยฟิกเกอร์หรือโปสเตอร์จากเกม World of Warcraft และได้มีโอกาสเห็น Starcraft 2 ในช่วงที่เขากำลังทดลองเล่นกันภายในอยู่ด้วย พวกเราเดินลัดเลาะไปตามทางเดินที่เต็มไปด้วยงาน Art จากเกมที่ว่า แม้ผมจะไม่ได้เล่น World of Warcraft แต่ก็เล่น Warcraft 2,3  การมาเยี่ยมชมครั้งนั้นทำให้ผมอยากลองเล่นเจ้าเกมที่ว่าดูสักที งาน Art ของ Blizzard นั้นดูเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังและแรงบันดาลใจ ซึ่งเพื่อนนักเรียนด้วยกันหลายคนต่างก็ใฝ่ฝันที่จะได้ลองทำงานที่นี่ดูสักครั้ง

ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ คืออาจจะเป็นไปได้แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆนัก และด้วยความที่ซานฟรานซิสโกมีการจัดงาน Game Developer Conference (GDC) กันเป็นประจำทุกปี ผมจึงไปที่งาน GDC เป็นประจำตลอดชีวิตนักเรียนที่นั่น และเป้าหมายหลักคือการไป Job fair หรือการหางานนั่นเอง ในช่วงปีแรกๆนั้นเป็นการฝึกการพูดคุยกับ HR ซะเป็นส่วนมากด้วยคุณภาพของงานที่ไม่ถึงเกณฑ์ อาจจะแค่กรอกใบสมัครแล้วคุยกันพอเป็นพิธี เพื่อให้คุ้นชินกับการพูดคุยกับคนต่างชาติและฝึกรับมือกับการตอบคำถามเฉพาะหน้า ในช่วงหลังๆจึงเริ่มมีเป้าหมายมากขึ้นเช่นการหาที่ฝึกงานและการหางาน โดยในงานมีบริษัททั้งใหญ่และเล็กมาออกงานจำนวนมาก และ Blizzard ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่มาออกงาน

แถวสัมภาษณ์งานของ Blizzard จะมี 2 แถว คือแถวสำหรับนักเรียนและแถวสำหรับมืออาชีพ ซึ่งแน่นอนว่าแถวของนักเรียนนั้นจะมีขนาดยาวและต้องใช้เวลาในการรอคอยนานพอสมควร สาเหตุเพราะในแถวของนักเรียนนั้น ทาง Blizzard จะใช้ Artist ที่ทำงานมาเป็นคนวิจารณ์งาน ซึ่งแต่ละคนจะใช้เวลากับงานของเหล่านักเรียนพอสมควรไม่ใช่แค่การดูผ่านๆ แต่ให้คำแนะนำและการพัฒนางานที่ดีขึ้น ซึ่งเราสามารถที่จะถามอะไรกับคนที่มาดูงานให้เราก็ได้ ทำให้แถวของ Blizzard ได้รับความนิยมเป็นประจำทุกปี

บางคนอาจจะสงสัยว่าทำไมกับแค่การวิจารณ์งาน ถึงมีคนหลายคนยอมเสียเวลาต่อคิวยาวเหยียดเพื่อให้งานของเราถูกด่าหรือติชม เพราะงานวิจารณ์ที่มีประโยชน์ย่อมทำให้เกิดการพัฒนาขึ้น ยิ่งถ้าได้รับการวิจารณ์จากมืออาชีพในสายงานนั้นๆจริงๆ ย่อมได้คำแนะนำที่ดีแน่นอน ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงยอมต่อแถวเพื่อโอกาสที่ไม่ได้หาง่ายๆแบบนี้

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาผมแบ่งการวิจารณ์งานออกได้เป็น 3 ระดับ
ระดับแรก ระดับทั่วไปคนวิจารณ์อาจบอกได้แค่ชอบหรือไม่ชอบ โดยไม่มีสาเหตุมารองรับ
ระดับที่สอง คนวิจารณ์สามารถบอกได้ว่าชอบหรือไม่ชอบเพราะอะไร แต่ยังไม่สามารถบอกถึงแนวทางพัฒนาเพิ่มได้
และระดับสุดท้าย คนวิจารณ์มองออกว่าควรทำอย่างไรให้งานพัฒนาดีขึ้น โดยไม่จำกัดอยู่แค่แนวทางเดียว 

ซึ่งในฐานะที่ทั้งถูกวิจารณ์งานและวิจารณ์งานคนอื่นบ้าง สิ่งสำคัญอันดับแรกเลยคือ อย่าเพิ่งเถียง ฟังคนพูดๆให้จบก่อน พอจบแล้วจะเถียงหรือจะแย้งอะไรก็ค่อยว่ากันไป หรือถ้าคิดว่าการวิจารณ์ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ตรงประเด็น ผมพบกว่าการปล่อยผ่านและเงียบๆไปเป็นการจบเรื่องที่ดีที่สุด บางครั้งการโต้เถียงที่ไม่มีสาระ ทำให้ชัยชนะที่ได้มาไร้ซึ่งความหมาย เปรียบได้เหมือนกับการทะเลาะกันของเด็กที่ไม่รู้จักโต

ในทางกลับกัน การยอมรับถึงข้อผิดพลาดและเรียนรู้จากเรื่องราวที่ผ่านมาเหล่านั้น รวมทั้งประสบการณ์ผ่านงานที่เราทำ ทั้งเรื่องที่สำเร็จและล้มเหลว สิ่งเหล่านี้ต่างหากล่ะที่ทำให้เราโตขึ้น

ตอนนี้เราก็โตแล้ว ทีนี้จะไปไหนต่อดีนะ



No comments:

Post a Comment