ผมเรียนมัธยมที่โรงเรียนชายล้วนแถวบางรักซึ่งสมัยนั้นขึ้นชื่อเรื่องภาษาอังกฤษมาก และผมก็ชอบวิชาภาษาอังกฤษเสียด้วย สาเหตุไม่มีอะไรมากไปกว่าการชอบดูหนังและต้องดูแบบเสียงในฟิลม์แม้จะฟังไม่ออกก็ตาม เพราะฟีลลิ่งในน้ำเสียงของนักแสดงมันกลืนหายไปหมดหากดูหนังพากย์ไทย(ยกเว้นหนังจีน) ผมอาศัยการอ่านซับไตเติ้ลในการเข้าใจว่าในหนังเขากำลังพูดเรื่องอะไรกัน ภาษาอังกฤษที่ได้ยินในหนังตอนนั้นจึงเป็นการทำความคุ้นเคยซะมากกว่า ช่วงมหาวิทยาลัยพอไม่ได้เรียนภาษาอังกฤษบ่อยๆ ความสามารถเรื่องไวยกรณ์จึงตกลง แต่การอ่านยังคงเดิม จวบจนผมทำงานและช่วงเตรียมตัวไปเรียนต่อจึงไปลงคอร์สภาษาที่ AAU แถวถนนราชดำริ ผมลงเรียนคอร์สนี้อยู่สักพักก่อนจะไปพบกับของจริงที่ต่างประเทศ
เมื่อไปถึงอเมริกาถึงได้รู้ว่า ภาษานี่มันเป็นสกิลอย่างหนึ่งที่ถ้าไม่ได้ใช้บ่อยๆมันจะค่อยจางไปเอง และการฝึกอ่านหรือเขียนอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เพราะพอผมไปเจอคนต่างชาติที่พูดกันเป็นต่อยหอยเนี่ย ฟังแทบไม่ออกเลยว่าเขาพูดอะไรกัน แต่ถ้าเขียนมาจะสามารถเขียนตอบได้ทันที และมีอีกหลายเรื่องที่ชั่วโมงเรียนภาษาอังกฤษที่ผ่านมาไม่มีสอนอย่างเรื่องง่ายๆเช่น การออกเสียงพยัญชนะภาษาอังกฤษ ผมเพิ่งรู้ตอนอยู่อเมริกาเนี่ยแหละว่า ไอ้เจ้าตัว "Z" เนี่ยมันออกเสียงว่า "ซี"
อ้าว แล้วถ้างั้นไอ้ที่เราออกเสียงกันว่า "แซด" นี่มันผิดรึ
ไม่ผิดครับ
ถ้างั้นตกลงว่า "Z" เนี่ยมันออกเสียงว่า "ซี" หรือ "แซด"
ทำไมตอนอนุบาลเราถึงอ่าน เอ บี ซี ไปจบที่ เอ็ก วาย แซด แล้วพอขึ้นประถมกลับได้ยินเพลงABC ร้องว่า เอ บี ซี แต่จบด้วย เอ็ก วาย ซี
คำตอบคือขึ้นกับตอนนั้นคุณอยู่ที่ไหน
ถ้าที่อังกฤษก็ "แซด" ยกตัวอย่างเช่น Zbrush อ่านว่า "แซดบรัช"
ถ้าที่อเมริกาก็ "ซี" ยกตัวอย่างเช่น Zbrush อ่านว่า "ซีบรัช"
ภาษาอังกฤษเนี่ยมันมีทั้ง อังกฤษแบบอังกฤษ(British English) และอังกฤษแบบอเมริกัน(American English) ซึ่งสมัยที่ผมเรียนผมก็ไม่รู้หรอก มารู้เอาจากการใช้งานและสงสัยเนี่ยล่ะ
ยกตัวอย่างคำเดียวกันแต่เรียกต่างกันทั้งอังกฤษและอเมริกา
ลิฟท์ ที่อังกฤษเรียก "Lift"
ที่อเมริกาเรียก "Elevator"
ไฟฉาย ที่อังกฤษเรียก "Torch"
ที่อเมริกาเรียก "Flashlight"
ที่จอดรถ ที่อังกฤษเรียก "Car park"
ที่อเมริกาเรียก "Parking lot"
นอกจากนี้บางคำวิธีการสะกดยังต่างกันอีกเช่น คำว่า"สี" แบบอังกฤษสะกดว่า "Colour" แบบอเมริกาสะกดว่า "Color" ขอยกตัวอย่างไว้เพียงเท่านี้ละกัน ถ้าอยากรู้เพิ่มเติมผมแนะนำให้เตรียมหนังสือไปหรือมาเจอของจริงสักพักก็จะปรับตัวได้เอง
สำหรับคนที่อยากฝึกภาษาด้วยตัวเอง ผมมีวิธีฝึกสนุกๆว่าเรารู้จักศัพท์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันเพียงพอหรือยังนั้น โดยการลองเล่นเกมง่ายๆคือ ดำเนินชีวิตของคุณปกติเนี่ยล่ะ ตื่นมาอาบน้ำ เดินทางไปทำงาน(หรือไปเรียน) เที่ยงลงไปสั่งข้าว บ่ายนั่งคุยกับเพื่อน เย็นก็กลับบ้าน ทำธุระส่วนตัวอะไรเรื่อยเปื่อยไปตามปกติ แต่ที่ว่ามาทั้งหมดนั้นให้คิดเป็นภาษาอังกฤษเป็นประโยคในใจไปด้วย อาจจะคล้ายๆการฝึกสมาธิให้มีสติไปในตัว เช่น ตอนเช้าคุณตื่นนอน ให้ลองคิดในใจหรือพูดออกมาว่าตื่นนอนตอนหกโมงเช้าจะพูดยังไง (I'm getting up at 6 am) แล้วไล่ไปทุกกิจกรรมในวันนั้นคุณจะได้รู้ว่าศัพท์ในชีวิตประจำวันคำไหนที่ไม่เคยใช้ ถ้าเกิดสถานการณ์เช่นส้วมตัน (clogged toilet) จะพูดว่าไง จะบอกพนักงานร้านขายของว่าเราจะซื้อที่ปั๊มส้วม (plunger) ว่าอะไร
ได้ยินแค่นี้ก็เริ่มสนุกแล้วใช่ไหมครับ เอาเป็นว่าถึงตอนนี้คุณเริ่มมีความมั่นใจในการใช้ภาษามากขึ้น แล้วก็ถึงขั้นตอนต่อไปคือ การคุยกับคนอื่น คนเราเวลาเจอหน้ากันก็ต้องทักทายกัน ผมคิดว่าหลายคนคงคุ้นกับบททักทายแบบนี้มาก่อน
"Hello, How are you?(หรือ How do you do)"
"I'm fine, thank you and you?"
"I'm fine, thanks"
ช่วงไปอยู่อเมริกาแรกๆนี่เป็นบททักทายที่ผมจำได้แม่นและใช้ทุกครั้งที่เจอเพื่อน พอผ่านไปสักพักผมถึงได้รู้ว่าเขาไม่พูดแบบนี้กัน(ไม่ค่อยเป็นที่นิยม) แต่ผมจำจนขึ้นสมองมาตั้งแต่ประถมแล้วนะ แล้วทำไมมันถึงใช้ไม่ได้ล่ะ เจ้าประโยคที่ว่าไม่มีอะไรผิดเลย เป็นประโยคที่ถูกต้องทั้งหลักไวยกรณ์และความหมาย แค่ไม่ใช่ภาษาที่คน(ฝรั่ง)พูดเท่านั้นเอง
แล้วแบบนี้เวลาเขาทักทายกันเขาพูดยังไงกันล่ะ
คำทักทายที่ได้ยินบ่อยก็เช่น
"How it's going" คำนี้เป็นคำทักทายที่ได้ยินบ่อยกว่า "How are you" เสียอีก (How do you do นี่แทบจะไม่ได้ยินใครใช้) แต่ตอนนั้นน่ะ ผมไม่เคยใช้หรือได้ยินคำนี้มาก่อนจึงไม่รู้จะตอบยังไงนอกจากการเดา ยกตัวอย่างเช่น
"Hey, Toy. How it's going?" เพื่อนทักว่า "เฮ้ ตอย เป็นไงบ้าง(วะ)"
ผมในตอนนั้นจึงอาศัยความมั่วจับเอาว่ามี "How" กับ"going" ก็เลยตอบไปว่า
"Yeah, I'm going to school by bus" แปลว่า "เราไปโรงเรียนด้วยรถเมล์ล่ะ" รุ้เรื่องกันเลยงานนี้ทั้งคนถามก็งงคนตอบก็มีน
อีกคำทักทายที่นิยมกันก็คือ "What's up" ซึ่งแสลงไปเป็น "Wassup" ก็เป็นอีกคำที่นิยม ถ้าจะพูดแบบรูปประโยคเต็มๆมันคือ
"What are you up to?" ไอ้ประโยคนี้เป็นคำทักทายที่ใช้บ่อยพอๆกับ "How it's going?" เลยทีเดียว
ความหมายคือ "นายกำลังทำอะไรอยู่หรอ" แต่เราสามารถใช้เป็นคำทักทายทั่วไปได้เช่นกัน
เกริ่นมาเท่านี้ผมคิดว่าคุณคงจะมีไอเดียว่าจะฝึกยังไง แต่ถ้าตัดสินใจมาเรียนต่อแล้วละก็ ส่วนมากเลยโรงเรียนหรือสถาบันที่คุณจะไปเรียนต่อจะทำการปรับสภาพคุณโดยการให้ลงเรียนภาษาเสียก่อน
เทอมแรกทางโรงเรียนที่ผมไปเรียนจับให้นักเรียนต่างชาติทุกคนทำการลงเรียน
คลาสภาษาชื่อว่า ESL (English secondary Language)
โดยแบ่งออกเป็นหลายระดับตั้งแต่ 1-5
โดยทั่วไปนักเรียนที่มีพื้นฐานภาษาพอพูดรู้เรื่องจะถูกจัดให้อยู่ในระดับ 3
และหากสอบผ่านก็ไม่ต้องเรียนอีกเลย
แต่ถ้าสอบไม่ผ่านจะต้องเลือกว่าจะเรียนระดับ 4 หรือ 5
ซึ่งก็คือการพูดและการเขียน ผมถูกจัดให้อยู่ในระดับ 3 การเรียนการสอนไม่มีอะไรมาก อาจารย์เป็นฝรั่งวัยรุ่นออกแนวสอนไปเรื่อยๆ ไม่ค่อยได้สาระนักแต่ผมก็ตั้งใจเรียนเพื่อที่จะผ่านแล้วไม่ต้องมาเรียนเพิ่มอีกที่เป็นเช่นนี้เพราะหน่วยกิตแพงมาก ผมตั้งใจทำการบ้านในห้องให้ครบและทบทวนบทเรียนในก่ารเขียน Essay โดยส่งให้ทางแลปออนไลน์ตรวจอย่างสม่ำเสมอ ผมทำเช่นนี้เรื่อยมาจนถึงการสอบปลายเทอม
การวัดผลมีทั้งการฟัง พูด อ่านและเขียน ซึ่งผมคิดว่าผมทำได้ดีพอควร แต่เมื่อผลการสอบออกมาปรากฏว่าผมไม่ผ่าน
ผมทั้งเซ็งและผิดหวังกับตัวเองที่ไม่ผ่านคลาส ESL ขณะที่เพื่อนร่วมชั้นส่วนมากผ่านฉลุย ผมจึงไปถามกับไดเรกเตอร์ของทาง ESL ว่าทำไมผมถึงไม่ผ่าน ทั้งที่การสอบที่ผ่านมาผมก็ทำคะแนนดีมาตลอด ไดเรกเตอร์อธิบายว่า การฟัง อ่านและการพูดของผมนั้นผ่านเกณฑ์อย่างไม่มีปัญหา แต่การเขียนยังไม่ถึงเกณฑ์ ผมพยายามต่อรองว่าขอผมไม่เรียนตัวนี้ได้มั้ย ไม่อยากเรียนภาษาแล้วมันน่าเบื่อแต่ไดเรกเตอร์ก็พยายามบอกผมว่าไม่ได้ยังไงคุณก็ต้องเรียน จนผมเหลืออดจึงบอกไปว่า
"I didn't came here to study English, I came here to study Animation"่
ปรากฏว่าไดเรกเตอร์ก็อึ้ง คงคิดว่าไอ้นี่นอกจากเขียนไม่ได้แล้วยังถือดี(ซึ่งก็ยอมรับว่าตอนนั้นถือดีจริงๆ) แกเลยบอกผมว่า เอางี้ ตอนต้นชั่วโมงของคลาสจะมีการสอบวัดผลอีกรอบ ถ้าคุณทำข้อสอบได้คุณก็ไม่ต้องเรียน พอบอกแบบนี้ผมเลยเย็นลงหน่อยและกล่าวขอบคุณแกมประชดก่อนจะเดินออกจากห้องไป
ผมลืมเรื่องนี้ไปเสียสนิท จนเริ่มเทอมใหม่ผมก็เข้าไปเรียนคลาส ESL 5 อย่างจำใจ โดยในชั่วโมงแรกเป็นอาจารย์ฝรั่งหญิงวัยกลางคน ร่างท้วมดูใจดี แกทำหน้าที่สอนคลาส writing คลาสเริ่มโดยการสอบอย่างที่ไดเรกเตอร์ ESL คนนั้นบอกไว้ไม่มีผิด อาจารย์แจกกระดาษเปล่าแล้วให้เหล่านักเรียนเริ่มเขียน essay ผมจำไม่ได้ว่าหัวข้อที่ให้เขียนคืออะไร แต่ผมจำได้ว่าเขียนได้แย่มาก แกรมม่ากลายเป็นแกนะมั่วไปหมด ผมเขียนไปสังเวชตัวเองไป ไดเรกเตอร์คนนั้นกล่าวถึงผมได้อย่างไม่มีผิดเพี้ยน ความสามารถในการเขียนของผมไม่ถึงเกณฑ์จริงๆ ผมวางปากกาเมื่อการสอบสิ้นสุดลงจากนั้นก็ทำใจยอมรับผล อาจารย์เก็บข้อสอบของผมไปและเริ่มลงมือสอน จากที่ผมคิดว่าวิชาภาษาอังกฤษนี่น่าเบื่อและเสียเวลา ผมต้องยอมรับว่าอาจารย์คนนี้สอนดีจริงๆ แกอธิบายหลักไวยกรณ์ รูปแบบประโยคยากๆให้เข้าใจได้ง่ายทำให้ผมเริ่มสนุกกับการเขียนภาษาอังกฤษแล้วสิ แล้วชั่วโมงแรกก็จบลงผมเดินออกจากคลาสพร้อมกับความคิดที่ว่า เรียนคลาส writing ไปก็ไม่เห็นเสียหายอะไรนี่
สัปดาห์ต่อมา ขณะที่ผมกำลังเดินไปเรียนที่ตึกปั้นบนถนน Bush อยู่ ผมก็ได้รับโทรศัพท์ ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหนจากอาจารย์สอนคลาส writing นั่นเอง แกโทรศัพท์มาเพื่อแจ้งผลว่า ผมสอบผ่าน writing ไม่ต้องเรียนคลาสนี้แล้ว ในใจผมนั้นลิงโลดเพราะเท่ากับประหยัดเงินค่าหน่วยกิตไปได้เยอะแต่อีกใจก็เสียดาย สุดท้ายผมก็กล่าวขอบคุณอาจารย์ที่โทรมาบอก และไปรับเงินค่าหน่วยกิตคืน ช่วงปีหลังๆในการเรียนที่ต้องนำเสนอ Book Thesis ผมยังคิดอยู่ว่าถ้าตอนนั้นได้ลงเรียนไป อาจจะเขียน Book Thesis ได้ลื่นกว่านี้และถ้าตอนนั้นเลือกได้ผมก็อยากเรียนคลาส writing โดยอาจารย์คนนี้แต่แรกเหมือนกัน
ดังนั้นตั้งใจเรียนภาษาก่อนไปเรียนจริงกันนะครับ
No comments:
Post a Comment