Thursday, June 12, 2014

อาหาร

ที่ซานฟรานซิสโกมีอาหารการกินที่หลากหลายมาก อาจจะเพราะเป็นเมืองที่มีผู้คนจากแต่ละทวีปมาอาศัยอยู่รวมกัน คุณจึงสามารถหาอาหารไทย จีน ฝรั่ง ญี่ปุ่น อิตาลี อินเดีย โมรอคโค กรีก ได้ตามย่านต่างๆกัน  ซึ่งผิดกับภาพที่ผมคิดไว้ในหัวอย่างสิ้นเชิง

ภาพที่ผมคิดไว้ในหัวก่อนมาอเมริกาคือ คนที่นี่กินแฮมเบอร์เกอร์กันเป็นอาหารหลัก ซึ่งพอมาอยู่จริงๆแล้วกลับกลายเป็นว่าไม่ใช่เลย คนทั่วไปที่รักสุขภาพกินแฮมเบอร์เกอร์กันไม่บ่อย เนื่องด้วยร้านที่ขายแฮมเบอร์เกอร์โดยเฉพาะมีไม่ค่อยเยอะ อาหารอย่างเคบับยังหาง่ายกว่าเบอร์เกอร์สักชิ้นเสียอีก ที่น่าแปลกคือร้านอาหารฟาสท์ฟูดแฟรนไชส์ชื่อดังกลับหายากมาก และส่วนมากจะกระจัดกระจายไปรอบนอก ไม่ได้อยู่ในด้านตัวเมืองเป็นหลัก ฟาสท์ฟูดบางร้านถ้าอยากกินต้องขับออกไปถึงนอกเมืองเลยก็มี ร้านที่ขายอาหารแนวฟาสท์ฟูดส่วนมากจึงเป็นพวกร้านคาเฟ่ทั่วไป

แต่ถึงอย่างนั้นก็เหอะผมมีโอกาสไปใช้บริการแมคโดนัลที่ซานฟรานซิสโกครั้งแรกเพราะร้านนั้นตั้งอยุ่ใกล้กับโรงเรียนที่ผมไปเรียน ร้านตั้งอยู่บนถนน Market ตัดกับถนน New Montgomery ตัวร้านเป็นเหมือนห้องแถวเล็กๆที่ มืดและดูสกปรกมาก ผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเขาถึงเรียกว่าอาหารขยะกัน ก็ถ้าร้านมันสกปรกแบบนี้อาหารที่ออกมาก็น่าจะไม่ต่างกัน แมคโดนัลทีไทยนี่ยังสะอาดกว่าไม่รุ้กี่เท่า และที่หน้าร้านจะมีโฮมเลสสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเปิดประตูเพื่อหวังจะได้เศษเงินเล็กๆน้อยๆ มาซื้อแมคโดนัลกินประทังชีวิต

ถ้าคุณยังอยากกินแฮมเบอร์เกอร์แต่ยังห่วงใยในสุขภาพ ที่นี่ก็มี in & out burger ร้านอาหารฟาสท์ฟูดที่เหมาะสำหรับคนรักสุขภาพ ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม ที่เพื่อนผมบอกว่า เป็นเบอร์เกอร์ที่กินแล้วเฮลตี้ที่สุด อาจจะด้วยของที่ทำสดและใหม่ โดยเฉพาะมันฝรั่งทอด ที่นี่จะใช้มันฝรั่งสดฝานกันเดี๋ยวนั้นแล้วจับเอาไปทอดเลย ทำให้มันฝรั่งทอดของ in&out รสชาติต่างจากมันฝรั่งทอดร้านทั่วไป
แต่มันทอดก็คือมันทอดน่ะ จนบัดนี้ผมก็ยังไม่เข้าใจว่ามันจะเฮลตี้ได้ยังไง

แล้วคนที่นี่ส่วนมากกินอะไรกันตอนเที่ยง

คนที่นี่ใส่ใจในเรื่องสุขภาพกันมาก อาหารที่คนส่วนมากกินกันก็คือสลัด ยิ่งถ้าช่วงพักเที่ยงคุณลองไปเดินดูย่านทำงาน จะเห็นคนนั่งกินสลัดกันเต็มไปหมด ซึ่งตอนแรกผมแปลกใจมากเมื่อเห็นขนาดของชามสลัดที่ใหญ่และเยอะ ไม่คิดว่าจะกินกันหมด ผมเห็นคนกินสลัดผักแปลกๆชนิด(ที่ผม)ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน บางชนิดเหมือนไปเด็ดเอาหญ้าหน้าบ้านมาใส่จานกิน คนที่นีเคี้ยวผักไปนนั่งอ่านหนังสือพิมพ์กลางแดดอ่อนๆกันเยอะมาก

ผมเองก็เพิ่งหัดกินสลัดเมื่อตอนทำงานนี่เอง หลังจากสมัยเรียนผมมักจะกินแต่ร้านอาหารจีนมาตลอดเพราะราคาถูก และผักที่ผมกินได้มีจำกัดอยู่ไม่กี่ชนิด เมื่อเปลี่ยนสังคมเข้าสู่สังคมทำงานที่เพื่อนร่วมงานกินสลัดกันเป็นปกติ(ของฝรั่ง) และไม่ค่อยมีใครอยากไปกินร้านอาหารจีนกับผม ผมเลยต้องปรับตัวลองหัดกินผักดูบ้าง โดยตอนแรกๆก็เลือกกินแต่ผักที่รู้จักหรือพอกินได้ ปรากฏว่ารสชาติไม่เลวเลย หลังๆผมเลยสามารถกินผักที่ไม่รู้จักได้

นอกจากร้านสไตล์คาเฟ่แล้ว ร้านอาหารบางร้านยังมีวิธีการขายอีกแบบคือให้เราตักเอง โดยมีอาหารหลายชนิดให้เราเลือกตักทั้งสลัด ไก่ย่าง ไล่ไปจนถึงข้าวผัด อาหารทั้งหมดนี้คุณจะตักเท่าไหร่ก็ได้เพราะเขาคิดราคาตามน้ำหนัก ตอนแรกๆผมที่ไม่เคยเจอร้านแนวนี้มาก่อนก็ตักน้อยไปบ้าง หนักไปบ้างซึ่งยิ่งหนักยิ่งแพง จนตอนหลังๆก็เริ่มที่จะกะน้ำหนักให้พอเหมาะกับราคาได้ นอกจากนี้บางร้านก็มีเทกนิคการขายที่ต่างกัน อย่างร้านที่ผมไปเป็นประจำก็มีโปรโมชั่นส่งเสริมการขายคือ ถ้าคุณตักได้น้ำหนักพอดี 1 ปอนด์ มื้อนั้นคุณไม่ต้องจ่าย และจากการฝึกชั่งน้ำหนักด้วยมือมาจนช่ำชอง ผมได้รางวัลกินฟรีจากร้านนี้มา 3 ครั้งแล้ว

แม้ที่อเมริกาจะมีร้านคาเฟ่มากมาย แต่อาหารที่ทำให้ผมรู้สึกว่าเป็นอเมริกากลับกลายเป็นอาหารจีน
อาหารจีนที่ซานฟรานซิสโก(และเมืองใหญ่ๆ)นั้นหากินง่ายมาก อารมณ์เหมือนร้านอาหารตามสั่งที่บ้านเราเลย แถมอาหารจีนบางอย่างที่ปกติจะหากินได้ต้องไปที่ภัตราคารจีนที่ไทย ที่นี่คุณสามารถซื้อกลับไปกินที่บ้านได้ง่ายๆเหมือนร้านข้าวแกงที่ไทยเลย ผมมักจะกินปลานึ่งเต้าซี่บ่อยๆ เพราะอร่อยและราคาถูก
เอาจริงๆ ผมรู้สึกว่ามาถึงอเมริกาแล้วก็ตอนที่กินอาหารจีนจากกล่องเนี่ยล่ะ

ร้านที่ผมชอบมากที่สุดคือร้านแถวบ้านเก่าย่าน Sunset ร้านนี้ชื่อว่า Cheung Hing อยู่ที่ถนน Noriega ตัดกับ 30 Avenue ร้านนี้ได้รับการโหวตว่าเป็ดย่างที่นี่ขึ้นชื่อมาก ตัวร้านจะมีลักษณะเป็นห้องแถวเดียว โดยด้านซ้ายมือจะเป็นที่นั่งติดกับผนังซึ่งมีอยู่ไม่กี่โต๊ะ และด้านขวาจะเป็นเคาเตอร์สำหรับวางถาดอาหารที่ทำเสร็จแล้วให้เลือกตัก ส่วนหน้าร้านติดกระจกจะเป็นที่แขวนเป็ดและหมูแดงหมูกรอบ ส่วนอาหารที่ต้องทำร้อนๆหรือผัดจะอยู่ในครัวข้างหลังร้าน

ครั้งแรกที่ผมไปกินที่ร้านนี้เกิดจากการเดินผ่านไปแถวนั้นหลังจากย้ายมาอยู่ ที่ Sunset ได้ไม่นาน ซึ่งโดยปกติแล้วถ้าคุณเข้าไปในร้านอาหารจีน และเป็นคนเอเชียยิ่งอยู่ในย่านคนจีนอย่าง Sunset อีกด้วย คุณจะโดนทึกทักไปก่อนเลยว่าคุณน่ะเป็นคนจีน ผมและกิตเดินเข้าไปนั่งในร้าน พนักงานเสิร์ฟรุ่นป้าไว้ผมหน้าม้าเดินเข้ามาที่โต๊ะแล้ววางเมนูกระดาษที่เป็นแผ่นพับ 2 ใบไว้ให้ผมกับกิต
"โอต๋า โอต๋า"
ผมกับกิตมองหน้ากันแล้วบอกป้าเป็นภาษาอังกฤษว่าพวกผมไม่ใช่คนจีน ฟังภาษาจีนไม่ออกหรอก
"ไอโนว ไอโนว โอต๋า โอต๋า" ป้าพยักหน้ารัวๆ
แต่ผมกับกิตก็ยังงงว่าแกพยายามจะทำอะไรอยู่นั่นล่ะ จนป้าแกคงเริ่มทนไม่ไหวจึงพูดช้าๆว่า
"ว้อท วูด ยู ไล้ ทู โอ ต๋า"
มาถึงตอนนี้ผมกับกิตก็ถึงบางอ้อ ป้าแกหมายถึงออเดอร์นี่เอง ไม่ใช่โอต๋า ภาษาอังกฤษสำเนียงแมนดารินนี่แม่งฟังยากจริงๆ และหลังจากนั้นเราก็เรียกป้าแก(และร้านนี้)ว่าโอต๋ากัน

มีวันนึง ผม กิต บัว เราสามคนไปนั่งกินที่ร้าน เราสั่งอาหารกันตามปกติคือสั่ง 2 จานแล้วกินกัน 3 คน และโอต๋าก็แนะนำเมนูพิเศษของวันนั้น ซึ่งก็คือขนมจีบนี่เอง ขนมจีบที่ร้านนี้ไม่เหมือนขนมจีบที่เซเว่นหรือร้านทั่วไปที่เมืองไทย ถ้าให้เทียบขนาดก็น่าจะประมาณเอาขนมจีบที่ไทย 4 ลูกมัดติดกันแล้วเอาไปนึ่งออกมาเป็นลูกเดียว
บนโต๊ะมีเพียงซอสถั่วเหลืองและกระปุกใส่พริกจีนตำวางอยู่ แต่ไม่มีจิ๊กโฉ่ว ที่นี่เขากินขนมจีบกับซอสถั่วเหลืองกัน แต่บ้านเรากินกับจิ๊กโฉ่ว
ผมพยายามมองไปที่โต๊ะอื่นและหยิบขวดซอสขึ้นมาดม แต่ก็ไม่มีขวดไหนเป็นจิ๊กโฉ่วเลย
"หรือมันไม่มีวะพี่" กิตถามผม
"เออ ไม่รู้ว่ะ ว่าแต่จิ๊กโฉ่วที่นี่มันเรียกว่าอะไรวะ" ผมตอบ
"จิ๊กโฉ่วไง"
"เฮ้ย ที่นี่มันใช้จีนคนละแบบกับที่ไทยนะ ไม่น่าจะเรียกว่าจิ๊กโฉ่ว"
"ซอสเปรี้ยวรึเปล่าพี่"
พวกเราพยายามอธิบายลักษณะของจิ๊กโฉ่วให้โอต๋าฟัง ว่าเป็นซอสสีดำมีรสเปรี้ยวๆ เค็มๆ ไว้กินกับติ่มซำจะอร่อยมากเลย ทั้งเรียกเป็นภาษาอังกฤษ Sour source, Sweet soy source, Winergar Chinese style และอื่นๆตามแต่จะสรรหามาเรียกได้ โอต๋าแกก็ยังไม่เข้าใจว่าเราหมายถึงอะไร
สุดท้ายพวกเราก็ล้มเลิกความพยายามและยอมรับความพ่ายแพ้ในการหาจิ๊กโฉ่ว นี่เราต้องกินขนมจีบกับซอสถั่วเหลืองสินะ
"เออ แม่งอยู่ที่นีมันหาจิ๊กโฉ่วยากจังวะ" ผมบ่น
โอต๋าซึ่งยืนอยู่ตรงนั้นหันกลับมาแล้วพูดว่า
"จิ๊กโฉ่ว ยู ว้อน จิ๊กโฉ่วอา"
แล้วก็แวบเข้าไปหลังร้านก่อนจะออกมาพร้อมกับขวดจิ๊กโฉ่วในมือ
เรื่องบางเรื่องแม่งก็คิดกันเยอะเกิน

No comments:

Post a Comment