Friday, October 31, 2014

Laundry machine.


ภาพที่ ชิซูรุ วิ่งไล่ถ่ายรูปอย่างบ้าคลั่งในหนังเรื่อง Collage of our live
จนถึงกับปีนเครื่องซักผ้าเพื่อถ่ายรูปของที่อยู่ข้างใน
ภาพนั้นยังคงประทับใจผม แม้ผมในตอนนั้นไม่รู้ว่าเธอจะถ่ายไอ้เครื่องซักผ้าที่ว่าทำไม
ไม่เห้นมันจะมีอะไรเลย นอกจากแค่ผ้าหมุน
แล้วผมก็เข้าใจว่าทำไมเธอจึงถ่าย แม้อาจจะไม่ใช่เหตุผลที่เธอถ่ายทำไม
เพราะมันไม่มีอะไรทำในตอนรอน่ะสิ ว่าแล้วผมก็เลียนแบบชิซูรุบ้าง



กลอง


ที่สถานีหนึ่งกลางเมืองนิวยอร์ก
ชายผิวดำไว้ผมเดรดล๊อค 3 คนก้าวเข้ามาในรถพร้อมกับกลองในมือ
และยังไม่ทันที่ประตูรถจะปิด หนุ่มเดรดล๊อค 2 คนนั้นก็ลงมือบรรเลงเพลงกลอง
ผมไม่คุ้นหูกับทำนองที่ว่า แต่ก็ดูสนุกดี ผู้คนในรถดูจะให้ความสนใจกับคนกลุ่มนี้
โดยพวกเขาแบ่งกันทำงานเป็นทีม 2 คนตีกลอง 1 คนเดินเรี่ยไรเงิน
สุดแต่ใครจะให้ ไม่ให้ก้ไม่ให้
เมื่อถึงสถานีถัดไป พวกเขาก็ลง

Thursday, October 30, 2014

Subway


ถ้าเทียบระหว่างรถไฟใต้ดินที่นิวยอร์ก กับรถไฟใต้ดินที่ซานฟรานซิสโกแล้ว
รถไฟใต้ดินที่นิวยอร์กดูจะต้องใช้เวลาในการคุ้นเคยอยู่มากกว่า ด้วยจำนวนสายและเส้นทางที่มากมาย
แต่นั่นก็ทำให้การเดินทางด้วยรถไฟใต้ดินในนิวยอร์กนั้นเป็นไปได้ง่ายและสะดวก
ผมเองก็ชื่นชอบการเดินทางด้วยรถไฟใต้ดิน ด้วยเหตุผลที่ว่ามา แม้สภาพภายในรถไฟใต้ดินนั้นจะไม่ค่อยน่าอภิรมย์เท่าไหร่
และที่สำคัญคือ ในการนั่งรถไฟใต้ดินแต่ละครั้ง คุณจะสามารถพบเจอคนที่น่าสนใจได้มากมาย

Begin Again


เพิ่งมีโอกาสได้ดูหนังเรื่อง Begin Again เมื่อไม่นานมานี้
ตัวหนังสนุกดี เพลงเพราะ
เคียร่า ไนท์รี่น่ารักสดใส
เฮียมาร์ค รัฟฟาโล เท่ห์มาก แก่ไปอยากจะโทรมแต่มีเสน่ห์แบบเฮีย
และที่สำคัญเมืองนิวยอร์กสวยมาก

เห็นแล้วนึกถึงครั้งแรกที่ได้ไปเยือน ตอนนั้นเป็นช่วงซัมเมอร์ที่ปิดภาคเรียนพอดี
และที่บ้านผมอันประกอบไปด้วย แม่ อาอี๊ น้องสาวและน้องชายที่อยู่เมืองไทย
ได้วางแผนจะมาเยี่ยมผมที่อยู่ซานฟราน และพี่ชายที่อยู่ซานดิเอโก
ผมเองนั้นไม่ค่อยรู้เรื่องการเที่ยวเท่าไหร่นัก หน้าที่นำทัวร์อเมริกาจึงตกอยุ่ที่พี่ชายผม
และสถานที่ๆเราจะเจอกันเป็นครั้งแรกในรอบปีกว่าก็คือ เมืองนิวยอร์กนี่เอง

สนามบินที่ทุกคนจะลงคือสนามบิน JFK
โดยเที่ยวบินของแต่ละคนจะเหลื่อมกันไม่มากก็น้อย
พี่ชายผมมาถึงก่อน จากนั้นจึงเป็นผม และตามมาด้วยแม่และน้องชาย น้องสาว
จากนั้นเราจึงนั่งรถเข้าเมืองนิวยอร์กเพื่อไปยังโรงแรมที่จองไว้ย่านไทม์แสควร์
หลังจากแวะรับประทานอาหารเรียบร้อย เราก็มาถึงโรงแรมราวๆ 3-4 ทุ่ม
เมื่อทำการเก็บของเสร็จเรียบร้อย ผมจึงชวนพี่น้องออกไปเดินเล่นกันตอน 5 ทุ่ม

แม่ผมขยับปากจะห้าม ว่าจะออกไปทำอะไรดึกดื่นขนาดนี้
แต่ผมบอกว่าไม่เป็นไรหรอก เพราะว่าที่นี่น่ะเมืองนิวยอร์กนะ
ที่ๆกลางคืนสว่างกว่ากลางวัน

Tuesday, October 28, 2014

Angkor #7: กลับบ้าน


พอ 9 โมงครึ่ง รถแท๊กซี่ที่ผมจองไว้ตั้งแต่เมื่อวานก็มารอรับที่หน้าโรงแรม หลังจากเช็กเอาท์เรียบร้อยแล้ว คนขับก็พาผมไปที่รถแท๊กซี่ รถแท๊กซี่ที่นี่ไม่มีมิเตอร์และไม่มีแม้แต่ป้ายแท๊กซี่ แต่ที่นี่รถแท๊กซี่ทุกคันจะเป็นรถยนตร์โตโยต้ารุ่นแคมรี่ แต่รถแคมรี่ทุกคันจะเป็นแท๊กซี่หรือเปล่าอันนี้ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน

เราใช้เวลาในการเดินทางจากเสียมเรียบมาถึงปอยเปตประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง หลังจากร่ำลากับคนขับรถเรียบร้อยแล้วผมก็ถูกจู่โจมจากหนุ่มร่างใหญ่ทันทีที่ก้าวขาลงจากรถ
"ไปกรุงเทพไหมน้อง นั่งรถตู้กลับเลยนะ" เขาถาม
"เท่าไหร่หรอครับ" ผมตอบ
"คนละ 250 ไปลงที่อนุสาวรีย์ฯเลยนะ" ชายคนนั้นตอบ

แต่ผมยังไม่ได้คิดจะกลับกรุงเทพทันที ด้วยว่าอยากเดินเล่นที่ตลาดโรงเกลือและแวะเข้าไปดูว่าบ่อนที่ปอยเปตเป็นยังไง จึงบอกปฎิเสธเขาไป หนุ่มร่างใหญ่ให้นามบัตรผมไปพร้อมกับบอกว่าถ้าเปลี่ยนใจจะกลับก็ให้โทรหาเขาเบอร์นี้เลย

ผมกล่าวขอบคุณแล้วเดินจากมา อันดับแรกก็ต้องออกจากฝั่งเขมรก่อนสินะ ผมเดินไปที่ ตม.ขาเข้าของเขมร และยังไม่ทันที่จะเดินเข้าไปต่อคิวใต้อาคาร พนักงานในชุดสีน้ำตาลก็เดินเข้ามาหาผมทันที
"คนไทยรึเปล่าน้อง"
"ครับ คนไทยครับ" ผมตอบด้วยความงงว่านี่มันอะไร
"เข้าฝั่งไทยใช่มั้ย ต่อคิว ตม.ตรงนั้นนานนะ" เขาบอกผมและชี้ไปที่แถวที่มีคนอยุ่พอควร
"อืม นั่นสิ" ผมย้อนคิดไปถึงตอนขามาว่ามันใช้เวลานานขนาดไหน แต่บางทีขากลับอาจจะเร้วกว่าก้ได้
"ให้ผมจัดการให้ไหม คิด 2 คนรวม 300 เท่านั้นเอง" เขาเสนอ

หลังจากลังเลกันอยุ่สักพัก ผมก็หลวมตัวติดความสบายไปด้วยการตกลงให้เขาจัดการ พนักงานในชุดสีน้ำตาลรับพาสปอร์ทของเราพร้อมกับเงิน 300 บาทแล้วเดินหายไป และชั่วเวลาไม่นานผมก็ได้ใบประทับตราตม. มาเรียบร้อยและเราก็เดินออกจากฝั่งเขมรได้ในเวลาไม่นาน เมื่อเข้ามาเขตแดนร่วมได้ผมก็ลองมองหาบ่อนคาสิโนซึ่งก็ไม่ยากเลย เพราะคุณต้องเดินผ่านบ่อนคาสิโนที่ขนาบอยู่ทั้ง 2 ฝั่งก่อนจึงจะกลับเข้าสู่ฝั่งไทยได้

หลังจากฝากกระเป๋าไว้ที่แผนกต้อนรับ เราก็เดินเข้าบ่อนคาสิโนแห่งหนึ่งที่ติดกับโรงแรม ภายในบ่อนคาสิโนนั้นมีสภาพเป็นโถงกว้างๆ มีตู้เกมแบบคอมพิวเตอร์เรียงรายกันอยุ่เป้นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีโต๊ะพนันแบบที่มีคนเป้นเจ้ามือจริงๆอยู่ด้วย ผมลองนั่งที่ตู้เกมแบบคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งดู และในเวลาไม่นานก้มีพนักงานสาวเดินมาแนะนำวิธีเล่นให้ โดยผมเริ่มจากเล่นตาละ 1 บาท และชั่วเวลาไม่นานเงิน 100 บาทแรกก็หายไปอย่างรวดเร็ว จากนั้นจึงมีใบที่ 2 และ 3 ตามลำดับ

เงิน 300 บาทหายไปอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าน้ำหก พนักงานที่คาสิโนเดินเข้ามาแนะนำว่าผมควรเล่นยังไงต่อ แต่ผมตัดสินใจว่าพอแล้ว ตอนนี้ผมรู้แล้วว่าเป็นยังไง ยิ่งนึกก็ยิ่งรู้สึกเสียดายเงิน 300 บาทที่ใช้เล่นไปมาก ถ้าเอาไปซื้อของฝากจากเด็กน้อยเมื่อวานนี้ยังรู้สึกดีกว่าเลย แต่แล้วก็แล้วไป ผมเดินออกจากคาสิโนที่ผีพนันยังไม่ทันจะสิง

เราเดินข้ามฝากเข้าฝั่งไทย และผมเริ่มมองรถทัวร์ที่เราจะกลับ ตามข้อมูลที่ผมได้มานั้นบรรดารถบ่อนจะจอดอยู่ที่จอดรถหัลงธนาคาร SCB ผมจึงเิร่มมองหาธนาคาร SCB เป็นหลัก แต่ยิ่งเดินยิ่งหาไม่เจอ จึงหยุดแวะซื้อน้ำและถามแม่ค้าว่า
"โทษนะครับ แถวนี้มีธนาคาร SCB ไหมครับ" ผมถามแม่ค้าหลังจากซื้อน้ำไปขวดนึง
"ธนาคารหรอ นั่นไง" แม่ค้าชี้ไปที่ธนาคารกสิกรข้างหลังผม
"นั่นกสิกรนี่ ไม่ใช่ SCB " ผมแย้ง
"SCB ไม่รู้จัก รู้แค่ธนาคารนี้อันเดียวเอง" แม่ค้าตอบ
และก่อนที่ผมจะหมดหวังกับแม่ค้า พี่ผุ้ชายคนหนึ่งที่ยืนอยู่แถวนั้นก็หันมาบอกผมว่า
"ธนาคาร SCB ใช่มั้ยน้อง เดินข้ามถนนตรงไป แล้วเลี้ยวขวาไปจนสุดเลยก็จะเจอเองล่ะ"
ผมกล่าวขอบคุณเขาพลางจะถามข้อมุลเรื่องรถบ่อน แต่พี่เขาเดินทางมาด้วยรถยนต์ส่วนตัว ผมจึงไม่ได้ถามอะไรต่ออีก และเดินไปตามทางที่ได้รับคำชี้แนะมา ผมก็เจอกับธนาคาร SCB และที่จอดรถที่ว่า

ลานจอดรถเป็นลานกว้าง มีรถทัวร์จอดอยุ่กระจายเป็นหย่อมๆ แล้วทีนี้จะรู้ได้ยังไงล่ะว่าเราต้องขึ้นคันไหน หรือจะสอบถามใครได้ และอาการเก้ๆกังๆของผมคงเตะตาคุณป้าท่านนึง
"กลับกรุงเทพรึเปล่าหนุ่ม" ป้าถาม
"กลับครับ" ผมตอบพลางเดินเข้าไปหาป้า
"ผ่านตรงไหนบ้างหรอครับ" ผมถามเพราะเท่าที่หาข้อมุลมา รถบ่อนบางสายจะผ่านสวนลุม ซึ่งไม่ไกลจากบ้านผมเท่าไหร่นัก
"หนุ่มลงตรงไหนล่ะ" ป้าย้อนกลับมา
"ผ่านสวนลุมไหมครับ" ผมถาม
"ผ่านนะ ไปเลยมั้ย เนี่ยรถจะออกละ" ป้าตอบ
ผมหันไปปรึกษาผู้ร่วมขบวน และลังเลว่าเราจะกลับเลยหรืออยากจะเดินตลาดโรงเกลือดูสักพักนึง ป้าแกเห็นดังนั้นจึงบอกกับผมว่า
"โน่น รถคนนั้นก็ผ่านสวนลุม อีกสักชั่วโมงจะออก ถ้าไม่รีบค่อยกลับคันนั้นก็ได้" ป้าสรุปให้ผม

ผมกล่าวขอบคุณด้วยความโล่งใจแล้วเดินจากมา อย่างน้อยตอนนี้ก้ไม่มีปัญหาเรื่องไม่มีรถกลับบ้านล่ะนะ เราจึงเดินเล่นที่ตลาดโรงเกลือเพื่อรอเวลา และในชั่วเวลาไม่นานรองเท้า 3 คู่จากตลาดโรงเกลือก็เข้ามาอยู่ในมือผม เมื่อได้เวลาเราจึงเดินไปที่รถทัวร์คันนี้คุณป้าบอกก่อนจะได้รับคำตอบว่า

"ไม่นะ รถคันนี้ไม่ผ่านสวนลุม" ป้า(อีกคน)ประจำรถบอกผม

นี่มันอะไรกัน ก็ไหนว่าป้า(คนโน้น) บอกว่ารถคันนี้ผ่านไง แต่แม้จะถามเท่าไหร่รถคันนี้จะไปจอดใกล้สุดก็แถว วัดดอน ตรงถนนสาธร ซึ่งผมดูแล้วน่าจะไม่ค่อยสะดวกในการเดินทางต่อเท่าไหร่นัก ผมจึงต้องหาหนทางใหม่ในการกลับบ้าน และด้วยความที่ไม่รู้ว่ารถทัวร์คันไหนไปที่ไหนบ้าง ผมจึงเดินไล่ถามตามรถทัวร์ที่จอดอยู่ทีละคัน และใช้เวลาไม่นานผมก็เจอรถทัวร์ที่จะกลับกรุงเทพ แต่ผ่านที่บ่อนไก่แทนสวนลุม ซึ่งก็ไม่ได้ต่างอะไรมากนัก ผมจึงจัดการจองที่นั่งไว้ก่อน กำหนดการที่รถจะออกคือบ่าย 3 โมง แต่อาเจ๊แว่นที่น่าจะเป็นเจ้าของรถบอกให้ผมมาตอน บ่าย 2 โมง 15 นาที

และเพื่อไม่ให้พลาด เมื่อถึงเวลานัดผมก็ไปรอที่รถทันที อาเจ๊แว่นรับเงินค่าโดยสารของผมไป (คนละ200) แล้วก็ให้เราขึ้นไปนั่งรอบนรถได้เลย ระหว่างนั้นก็มีผู้โดยสารทยอยขึ้นรถมาเรื่อยๆ แล้วก็เกิดความวุ่นวายส่วนหนึ่ง ที่ผมเข้าใจคือในบรรดารถบ่อนจะมีทั้งคนที่ไปและกลับในวันเดียว และคนที่ไปค้างคืน ซึ่งขามาที่นั่งอาจจะเต็มแต่ขากลับอาจจะมีที่นั่งเหลืออยู่ก็ได้ แต่จำนวนที่นั่งนั้นก็ไม่แน่นอน ผมนึกขอบคุณในใจที่ผมไปบอกอาเจ๊แกตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะไม่งั้นแล้วผมอาจจะไม่มีที่นั่งสำหรับเดินทางกลับก็ได้

หลังจากอาเจ๊แว่นจัดการที่นั่งและให้อาม่า อาแปะและอาซิ้มทั้งหลายนั่งประจำที่ของตัวเองแล้ว เราก็เริ่มออกเดินทางกลับสู่กรุงเทพ

ผมคิดว่าผู้โดยสารหลายคนรู้จักกัน สังเกตได้จากการทักทายกัน และอาเจ๊แว่นก็เดินทักทายเหล่าผู้โดยสารทั้งหลาย ที่ผมคิดว่ากว่าครึ่งเป็นขาประจำของบ่อน บทสนทนาก็เป็นเรื่องทั่วๆไป ได้มาเยอะมั้ยงวดนี้ มาตั้งแต่เมื่อไหร่ คราวหน้าไปวันไหนดี ผมฟังสลับกับการข่มตานอนให้เวลาผ่านไปเร็วๆ และผมก็ได้ยินอาเจ๊ถามป้าคนนึงอย่างไม่ได้ตั้งใจว่า

"เป็นไง งวดนี้ได้มาเท่าไหร่ล่ะ" อาเจ๊แว่นถาม
"ไม่ได้เลย งวดนี้ เหลือแค่ค่ารถพอกลับบ้านมาเนี่ยล่ะ" ป้าตอบด้วยน้ำเสียงเหนื่อยหน่าย
อาเจ๊แว่นไม่ได้พูดอะไรอีก แล้วแกก็หยิบกระเป๋าเงินออกมาก่อนจะยื่นเงิน 20 บาทนั้นให้ป้า
"เอ้า ฉันลดให้ 20 บาท เผื่อไว้เป็นค่ารถต่อกลับบ้านนะ" อาเจ๊แว่นบอก

บางทีการมีน้ำใจก็ไม่ได้กำหนดว่าเราต้องมีเท่าไหร่ แค่แบ่งในส่วนที่เราให้ได้แค่นั้นก็พอแล้ว

หลังจากการเดินทางผ่านการจราจรที่หนาแน่นมุ่งสู่กรุงเทพร่วม 5 ชั่วโมง ในที่สุดเราก็มาถึงบ่อนไก่เสียที ผมลงจากรถท่ามกลางฝนที่ตกปรอยๆก่อนจะเรียกแท๊กซี่กลับบ้าน และเป็นอันสิ้นสุดการเดินทางครั้งนี้

Angkor #6: Smile of Angkor


หลังจากเสร็จสิ้นการชมปราสาททั้งวัน ชานนท์ก็พาผมไปจองรถแท๊กซี่สำหรับกลับไปปอยเปตในวันรุ่งขึ้นที่เอเจนซี่แห่งหนึ่ง โดยระหว่างทางชานนท์หยิบแผ่นพับฉบับหนึ่งให้ผมดู
"คุณอยากดูโชว์ไหมคืนนี้" ชานนท์ถามพลางยื่นแผ่นพับให้ผมดู
ในแผ่นพับนั้นเป็นรูปการแสดงบนเวทีสีสวยสด บนเวทีมีปราสาทหินขนาดใหญ่ตั้งอยู่ และมีหน้าบายนอยู่ทั้ง 2 ข้างของเวที ผมดูแผ่นพับแล้วนึกถึงโชว์อาคาซ่าหรือทิฟฟานี่ที่พัทยา
"มันเป็นโชว์เกี่ยวกับอะไรหรอครับ" ผมถามชานนท์
"เป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติของ Angkor ตั้งแต่ต้นจนจบเลย ประวัติศาสตร์ที่ผมเล่าให้คุณฟังวันนี้น่ะ เขาเอามาทำเป็นการแสดงให้ดู" ชานนท์พยายามขายของ

ผมพลิกแผ่นพับไปมาพลางชั่งใจอยู่ว่าจะเอายังไงดี ตามแผนคือผมคิดว่าจะไปเดินเล่นที่ถนน Pub street แหล่งท่องเที่ยวยามราตรีชื่อดังของที่นี่
"โชว์เริ่มกี่โมงหรอครับ" ผมถาม
"เริ่มประมาณ 1 ทุ่ม 15 นาที ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ถ้าจะไปเราควรไปถึงสัก 6 โมงเพราะว่าที่โชวืนี่เขามีดินเนอร์บุฟเฟท์ให้ด้วย"

อืม ดูโชว์พร้อมมีอาหารเย็นให้ ก็อาจจะเป็นความคิดที่ไม่เลวนัก ผมลองดูราคาที่แปะไว้ โชว์นี้มาอยู่ 2 ราคา คือ 39 และ 49 เหรียญ ที่นั่งในโซน 49 เหรียญ แน่นอนว่าจะอยู่ตรงกลางเวทีด้านหน้า ส่วน 39 เหรียญนั้นจะอยู่รอบข้าง หลังจากปรึกษากันอยุ่สักพัก เราก็ตกลงจะไปดูโชว์นี้ ด้วยว่าไหนๆก็ไหนๆจะดีจะแย่ยังไงก้ลองไปดูสักครั้งละกัน ผมบอกชานนท์พร้อมกับระบุว่าเอาที่นั่งตรงกลางไป จะทำอะไรก็ต้องทำให้สุดสินะ ผมคิดในใจ

ชานนท์จัดการจองตั๋วดูการแสดงให้เราเรียบร้อย แล้วแวะมาส่งผมที่โรงแรมเพื่อล้างหน้าล้างตา เปลี่ยนชุดที่ชุ่มไปด้วยเหงื่อก่อนออกไปรับประทานอาหารเย็นและดูโชว์


เรามาถึงสถานที่จัดการแสดงขนาดใหญ่ ข้างหน้าอาคารมีรถทัวร์จอดกันอยุ่เรียงรายหลายคัน เราเดินเข้าไปในอาคารที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวจีนและเกาหลี ผมเห็นนักท่องเที่ยวชาติอื่นอยู่บ้างแต่ก้มีจำนวนไม่เยอะเท่าไหร่ เมื่อจัดการเรื่องตั๋วเสร็จเรียบร้อย ชานนท์ก็บอกผมว่าเดี๋ยวเขาจะมารอรับเมื่อโชว์จบ แล้วส่งผมเข้าไปกินอาหารเย็นในโถงขนาดใหญ่

พนักงานต้อนรับพาเราเดินเข้าไปในโถงขนาดใหญ่ที่มีไลน์อาหารอยู่ตรงกลางและที่นั่งจำนวนนับร้อย ซึ่งบัดนี้เกือบเต็ม บางโซนเต็มไปด้วยกรุ๊ปทัวร์ที่มาจากที่เดียวกัน และแน่นอนว่าเมื่อคนเยอะ อาหารก็ต้องยิ่งเยอะ หลังจากได้ที่นั่งเรียบร้อยผมก็ไปเดินสำรวจไลน์อาหารที่มี โดยเริ่มจากโต๊ะหน้าสุดเป็นโซนขนมปัง มีขนมปังหลากหลายแบบกับแยมหรืออะไรสักอย่างที่มีลักษณะเป็นของเหลวสีสดที่หนืดมาก หรืออาจจะเป็นสังขยา ผมคิดแต่ไม่กล้าลอง

ถัดไปเป็นโซนอาหารปรุงสำเร็จ ซึ่งประกอบไปด้วยอาหารแนวจีนทั่วไป ผัดผัก ผัดหมูกับอะไรสักอย่าง และอาหารผัดอีก 2-3 อย่าง ผมมองแล้วเลือกที่จะตักผัดผักกับผัดหมูกับอะไรสักอย่างมาลองชิมดู คนในโถงอาหารนี้มีจำนวนเยอะมาก บ้างก็ต่อคิวกันเป็นระเบียบ บ้างก็แทรกกันตามใจชอบ ผมเดินหลบๆไปจนเห็นว่ามีโจ๊กอยู่ด้วย โจ๊กที่นี่จะมีรอไว้อยู่แล้ว แต่วิธีการสั่งออกจะแปลกเสียหน่อย

ผมเห็นมีแถวโจ๊กอยุ่จึงไปเข้าแถวร่วมขบวน เมื่อถึงคิวผม ผมจึงบอกพนักงานไปว่าขอโจ๊กชามนึง พนักงานหนุ่มมองหน้าผมนิ่งแต่ไม่ขยับอะไร ไม่ว่าผมจะพูดอะไรก้ได้รับความนิ่งเฉยเป็นคำตอบ แล้วก็มีป้าคนนึงพุ่งเข้ามาข้างหน้าผมแล้วชี้ไปที่จานอาหารสด 2-3 อย่างแล้วส่งเสียงล้งเล้ง ก่อนที่พนักงานจะหยิบของตามที่ป้าคนนั้นชี้ไว้แล้วใส่จานยื่นให้พนักงานอีกคนตักโจ๊กใส่ให้

อ้อ เขาสั่งกันอย่างนี้นี่เอง ผมจึงชี้หมูสับกับข้าวโพดบวกด้วยสาหร่ายแก่พนักงานหนุ่มคนนั้น และก็ได้ผล พนักงานคนนั้นก็ตักของตามที่ผมชี้แล้วส่งให้พนักงานคนต่อไปต้มโจ๊กให้ผม เป็นการสั่งอาหารโดยไม่ต้องมีการสื่อสารใดๆ ระหว่างคนกินกับคนทำ ซึ่งซุ้มอาหารอื่นๆก็ล้วนต้องสั่งด้วยวิธีนี้เช่นกัน

ซุ้มถัดไปเป็นซุ้มอาหารผัด ซึ่งก็มีวิธีการสั่งอาหารเหมือนกันคือ เราเดินเข้าไปหยิบอาหารสดที่อยากได้ โดยจะมีแค่เส้นกับผักทั้งหลายไม่มีเนื้อสัตว์ให้เลือก ในตอนแรกนั้นผมนึกว่านี่เป็นโซนผัดหมี่เจเสียอีก แต่เมื่อดูไปเรื่อยๆจึงเข้าใจ หลังจากเราเลือกเส้นและผักที่อยากได้แล้ว ขบวนแถวก็จะค่อยๆเคลื่อนไปยังหน้าเตาที่มีพนักงานกำลังผัดอยู่ เตาที่ใช้เป็นเตาผัดเหมือนร้านเทปันยากิ หรือ ร้าน Skylark ตามศูนย์อาหารทั่วไป เมื่อถึงคิวของผม ผมก็จัดการโยน โยนไอ้ที่ผมตักใส่จานเมื่อกี้ทั้งหมดลงสู่กระทะ

พนักงานจะเริ่มทำการผัดด้วยความช่ำชอง พนักงานทำครัวพลิกข้อมือตวัดตะหลิวเสียดสีกัน สลับกับราดเครื่องปรุงหลากชนิดเป็นระยะ จนเมื่อใกล้สุกพนักงานทำครัวก็จะโยนเนื้อไก่ขนาดเล็ก 2-3 ชิ้นลงบนหมี่ผัดของเรา และก็เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี

โดยรวมแล้วอาหารมื้อนี้เป็นอาหารสำหรับกรุ๊ปทัวร์อย่างแท้จริง คือเน้นปริมาณมากกว่ารสชาติ อาหารบางอย่างผมกินลงไปโดยที่ไม่แน่ใจว่าสิ่งนั้นคืออะไร เรียกได้ว่ากินให้หายหิวเท่านั้น โดยรวมแล้วไม่ค่อยประทับใจกับอาหารมื้อนี้เท่าไหร่นัก แต่ก็ไม่ได้ผิดหวังมากเพราะผมตั้งความคาดหวังไว้ไม่สูงอยู่แล้วสำหรับการแสดงและอาหารในค่ำคืนนี้ ด้วยว่ามันคงเป็นสถานที่ๆเหมาะกับกรุ๊ปทัวร์แต่ผมอยากมาดูเพราะอยากรู้ว่ามันเป็นอย่างไร อย่างไรก็แล้วแต่เมื่อเรากินอาหารเสร็จก็ได้เวลาเริ่มการแสดงพอดี

เราเดินเข้าไปในโรงละครขนาดใหญ่ ที่มีเวทีตั้งอยู่ตรงกลาง โดยคั่นระหว่างที่นั่งกับเวทีด้วยบ่อน้ำ พื้นในโรงละครก็ไล่ระดับเป็นทางลาดลงไปเหมือนตามแบบฉบับโรงละครทั่วไป แต่โรงละครแห่งนี้ไม่เหมือนโรงละครที่ผมพบมาอยู่ตรงที่ เก้าอี้

เก้าอี้ในโรงละครนี้ไม่ได้เป็นเก้าอี้พนักแบบพับได้เหมือนโรงหนังหรือโรงละครทั่วไป แต่เป็นเก้าอี้หวายขนาดใหญ่วางต่อกันเป็นแถวยาว

อืม แปลกดี ผมคิดในใจ บางทีการใช้งานของโรงละครนี้อาจมีมากกว่าการแสดงบนเวที บางทีเขาอาจจะอยากได้พื้นที่โล่ง ไว้เป็นฟลอร์เต้นรำก็ได้

ผมนั่งอยู่ในโรงละครสักพัก การแสดงก็เริ่มขึ้น บนเวทีมีหนุ่มเขมรที่เล่นเป็นเด็กน้อยยืนอยู่กลางเวที เด็กน้อยคนนี้กำลังสงสัยว่า Angkor มีที่มาอย่างไร เหมือนกับที่ผมก็กำลังสงสัยว่าเมื่อไหร่กรุ๊ปทัวร์ป้าเกาหลีกลุ่มที่อยู่ข้างหน้าผมจะนั่งลงเสียที เสียงพากย์ภาษาอังกฤษสลับกับเสียงการพูดคุยของกลุ่มป้าข้างหน้าผม การมาสายในโรงละครย่อมก่อให้เกืดความรำคาญแก่คนรอบข้างอยู่แล้ว ผมอดทนรอให้กลุ่มป้าข้างหน้าผมยุติการถกเถียงเรื่องที่นั่งว่าใครต้องนั่งตรงไหนเสียที และในที่สุดหลังจากหน้าบายนขนาดยักษ์โผล่มาให้คำตอบกับเด็กน้อยว่า มาสิ ฉันจะเล่าประวัติของ Angkor ให้ฟังเองว่ามาจากไหน กลุ่มคุณป้าข้างหน้าก็หาที่นั่งกันได้ลงตัวพอดี

การแสดงบนเวทีเป็นการเล่นละครผสมกับการเต้นและมีกายกรรมพ่วงด้วยนิดหน่อย และมีการใช้ CG เยอะพอสมควรทั้งรูปหน้าบายนที่ขยับไปมา และฝูงช้าง ตัวการแสดงเล่าเรื่องประวัติของนคร และความเป็นมา ผมนั่งดูด้วยความรู้สึกกลางๆ คือไม่ได้แย่แต่เหมือนไม่มีอะไรน่าประทับใจเท่าไหร่นัก ถ้าจะข้ามไปก็คงไม่เสียดายเท่าไหร่

ผ่านไปราวชั่วโมงกว่า การแสดงก็จบลง เหล่านักแสดงทั้งหลายกำลังเดินออกมาฟินนาเล่และโบกมือทักทายคนดู และตอนนี้เองที่เหล่าคุณป้าชาวเกาหลีทำเรื่องที่น่ารักขึ้น ระหว่างที่คนดูกำลังตบมือให้กำลังใจนักแสดงอยู่นั้น คุณป้ากลุ่มนี้เองก็ตบมือให้กำลังใจนักแสดงเช่นกัน แต่ผมเห็นได้จากภาษากายของเธอว่าดูเธอมีความสุขกับการแสดงชิ้นนี้จริงๆ แขนของเธอตั้งขึ้น 90 องศาตั้งฉากกับหน้าตักของเธอ และเธอเอียงแขนออกประมาณ 45 องศาโดยมีจุดหมุนอยุ่ที่ข้อศอดซึ่งชี้ลงไปที่หน้าตักของเธอ จากนั้นเธอจึงเหวี่ยงแขนกลับเข้ามาพร้อมกันทั้ง 2 ข้างก่อให้เกิดเสียงตบมืดที่ดังและชัด คุณป้าท่านนี้ตบมือด้วยวิธีนี้จนนักแสดงออกมาจนครบ และยังคงยิ้มและโบกมือให้นักแสดงจนเธอเดินออกจากโรงละคร

ผมอาจจะเคยดูโชว์ที่อื่นที่ดีกว่านี้มาก่อน แต่หลังจากเห็นคุณป้าท่านนั้นเพลิดเพลินไปกับการแสดงนี้อย่างจริงใจ ผมคิดว่าการแสดงนี้แม้จะดูตลาดๆ แต่ก็เป็นการแสดงที่ดีที่สามารถทำให้คนดูมีอารมณ์ร่วมได้



หลังการแสดงผมออกมาพบชานนท์ เขามีท่าทีผิดหวังเมื่อผมบอกถึงความประทับใจโชว์นี้ คือไม่แย่แต่ไม่ได้ประทับใจเท่าไหร่โดยเฉพาะอาหาร ชานนท์บอกผมว่าเขาจะไม่แนะนำโชว์นี้ให้ใครอีก จากนั้นชานนท์มาส่งผมที่ถนน Pub street และเราก็ลาจากกันตรงนี้ ผมให้ทิปขานนท์ไปอีก 10 เหรียญ และขอบคุณเขา

ผมเดินเล่นอยู่ที่ถนน Pub street ซึ่งถ้ามองผ่านๆจะนึกว่าเดินอยุ่ที่ถนนข้าวสารผสมกับสวนลุมไนท์บาซ่ายังไงยังงั้นเลย นักท่องเที่ยวมากมายพากันมารวมอยู่ที่นี่ ถ้าโชว์ที่เราไปดูเมื่อสักครู่คือสถานที่รวมทัวร์จีนและเกาหลี ถนน Pub street ก็คือสถานที่รวมนักท่องเที่ยวชาวยุโรปนี่เอง

ผมเดินเล่นอยู่สักพักจึงเรียกรถตุ๊กๆกลับโรงแรม เพราะวันพรุ่งนี้เราต้องเดินทางกลับตั้งแต่ 9.30

Angkor #5: ตาพรหมและบายน



เราแวะพักรับประทานอาหารมื้อเที่ยงที่ร้านยอดนิยมซึ่งชานนท์พาเรามาปล่อยไว้ ผมสังเกตได้จากการที่ภายในร้านมีแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งนั้น ราคาอาหารอยู่ในเกณฑ์ราคาปกติสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาจากอเมริกา แต่อาจจะเรียกได้ว่าแพงหน่อยถ้าคิดเป็นราคาไทย ซึ่งจะตกอยุ่ที่ราวๆ 250 บาทต่อจาน รสชาติอาหารที่นี่เรียกได้ว่ารสไม่จัด ซึ่งผิดกับที่ผมคิดไว้ตอนแรกคือ ผมคิดว่าคนที่นี่เขากินเผ็ดกัน จนได้รับการยืนยันจากชานนท์ว่า คนที่นี่ไม่กินอาหารรสจัดกันเท่าไหร่นัก อาหารที่ร้านรสชาติไม่คุ้นลิ้นสำหรับผมแต่ก็จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ดี แต่สิ่งที่ผมประทับใจกลับไม่ใช่อาหาร หากแต่เป็นการบริการของนักงานในร้าน พนักงานในร้านตั้งแต่กัปตันยันเด็กเสิร์ฟ ทุกคนต้อนรับลูกค้าด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้ม ไม่มีชักสีหน้าหรือมึนตึง ทำให้ผมหวนกลับไปคิดถึงพนักงานที่โรงแรมที่ไปพัก พนักงานที่นั่นก็ยิ้มแย้มและเต็มใจให้บริการกันทุกคน หรือแม้แต่หนุ่มเขมรที่ขายรูปสลักไม้และเด็กตัวน้อยที่มาตื๊อขายของให้ผมเอง ทุกคนแม้จะอยากได้เงินให้ผมอุดหนุนเขา แต่ก็ไม่มีท่าทีคุกคาม ตื๊อไม่ลดละแต่ไม่คุกคาม นี่เป็นสิ่งที่ผมประทับใจมากอย่างหนึ่งในทริปครั้งนี้

หลังจากอาหารมื้อเที่ยง เราจึงเริ่มทริปช่วงบ่ายที่ปราสาทตาพรหม ถึงแม้ปราสาทตาพรหม จะเป็นที่จดจำของผู้คนจำนวนมากที่เคยดูหนังเรื่อง Tomb Raider มาก่อน แต่สำหรับตัวผมแล้ว ตั้งแต่ย่างเข้าสู่นครวัดเอง ผมกลับรู้สึกคุ้นเคยอย่างประหลาด ความคุ้นเคยนี้ส่งมาจาก Tomb Raider เช่นกัน แต่ไม่ใช่เวอชั่นหนัง หากเป็นเวอชั่นเกมซึ่งเรียกได้ว่าเป็นต้นฉบับของหนัง ภาพโบราณสถานที่สร้างจากหิน บางส่วนปกคลุมด้วยต้นไม้และมอส ทำให้ผมอยากจะปีนป่ายไปตามกำแพงและกระโจนไปตามหน้าปราสาทเสียจริง หากแต่ยั้งใจไว้ได้ว่าเราไม่ได้ทำประกันอุบัติเหตุก่อนมาและสังขารไม่เที่ยง จึงเกรงว่าจะไม่คุ้มกับการเล่นท่าแอกชั่นผาดโผน

ผมจึงเดินชมปราสาทหินแห่งนี้ด้วยอาการสงบเสงี่ยม โดยปราสาทตาพรหมนี้น่าจะเป็นที่นิยมหรือเป็นจุดพีคจุดหนึ่งของทัวร์ปราสาทหินที่เสียมเรียบเลยก้ว่าได้ สังเกตได้จากขบวนนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ทั้งทัวรืจีน ทัวร์เกาหลี และทัวร์ไทยที่แวะเวียนกันมาไม่ขาด แน่นอนว่ามากคนยิ่งมากความ ผมและไกด์จึงพากันเลือกเส้นทางเดินที่เลี่ยงกลุ่มทัวร์ไปก่อน ชานนท์เล่าประวัติของปราสาทหินนี้ให้ผมฟังเป็นชุด ซึ่งข้อมูลในแต่ละส่วนนั้นเยอะมาก ผมเล่าสลับกับมองรากไม้ของต้นสบง ที่แผ่ขยายไปทั่วอาณาเขตปราสาท
"ถ้าเอาต้นไม้นี้ออกไป ปราสาทหลังนี้พังลงมาแน่นอน" ชานนท์บอกผม
"แปลกดีนะ แล้วทำไมต้นไม้มันขึ้นแต่ที่ปราสาทนี้หลังเดียวล่ะ" ผมถาม
"ที่จริงแล้วตุ้นไม้มันขึ้นที่ปราสาททุกหลังครับ แต่มีที่ที่เดียวที่เราไม่ถอนต้นไม้ออกไปเพื่อการบูรณะ" ชานนท์ตอบ
"เอ แล้วทำไมถึงไม่ถอนไปละ ทั้งที่ปราสาทหลังอื่นก็ถอนออกไปหมดแล้วนี่" ผมถาม
"ก็ถ้าถอนออกไป แล้วเวลานักท่องเที่ยวมาดูก็จะไม่เห็นปราสาทที่เหมือนในหนังน่ะสิ" ชานนท์ตอบ

เออ จริงของชานนท์ ผมคิดในใจ ถ้านักท่องเที่ยวที่อยากมาดูปราสาทตาพรหมหรือนครวัดมาเพราะประทับใจจากหนังเรื่อง Tomb Raider แล้วไม่เห็นรากไม้ที่ชอนไชไปทั่วปราสาทแบบในหนัง ผมเชื่อว่าพวกเขาคงผิดหวังและอาจจะไม่มาดูอีกก็ได้



เราเดินกันไปต่อจนถึงลานกว้าง ซึ่งผมรู้สึกว่าปราสาทตาพรหมนี่ดูร่มรื่นและสงบกว่านครวัดเสียอีก อาจจะด้วยช่วงเวลาบ่าย ประกอบกับปราสาทหลังนี้มีต้นไม้ขึ้นเต็มไปหมดทำให้มีร่มเงาและร่มรื่น ผมจึงนั่งพักอยุ่ในบริเวณนี้พักใหญ่ บริเวณไม่ไกลนักมีเครนตัวหนึ่งตั้งอยู่ ผมคิดว่าคงเอาไว้ใช้ในการบูรณะ
"เขาเริ่มจากการจดตำแหน่งของหินแต่ละก้อนว่ามันเคยอยู่ที่ไหนมาก่อน จากนั้นจึงทำการเคลื่อนหินนั้นออกไปซ่อมแซม จากนั้นจึงนำกลับเข้ามาใหม่ พวกรูปสลักส่วนมากทำจากหินทราย ในส่วนที่สึกหรอหรือถูกทำลาย เราใช้ซีเมนท์ในการซ่อมแซมครับ" ชานนท์อธิบาย
"แต่การบูรณะเองก็ยังมีข้อจำกัดอยุ่คือ การขนหินออกไปนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เครนที่เรามีสามารถเข้าถึงได้แค่บางพื้นที่เท่านั้น" ชานนท์เล่า
"ทำไมล่ะ ก็น่าจะถอดย้ายเครนได้นี่นา" ผมแย้ง
ชานนท์ชี้ให้ผมดูไปรอบๆ แล้วผมจึงถึงบางอ้อ ก็มันติดต้นไม้นี่เอง
"นอกจากนี้การบูรณะเองยังต้องการพื้นที่โล่งเพื่อไว้วางกองหินอีกด้วย ถ้าคุณดูมุมนี้คุณจะเห็นว่าพื้นที่ทางด้านซ้ายได้รับการบูรณะเรียบร้อยแล้ว แต่ในพื้นที่ด้านขวายังไม่ได้รับการบูรณะ เพราะการซ่อมแซมในส่วนนั้นจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทั้งเครื่องมือและสถานที่ที่ไม่กว้างพอจะวางหินทั้งหมด"

ผมมองไปทางที่ชานนท์บอก กองหินมหึมาตั้งตระหง่านเรียงกันอย่างระเกะระกะอยู่ น้ำหนักของหินนี้แต่ละก้อนคงหนักอยู่พอควร หากเคลื่อนย้ายด้วยแรงคนคงใช้เวลานานแน่ๆ

หลังจากนั่งให้หายเหนื่อยกันแล้ว เราจึงออกเดินทางสู่นครธมหรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Angkor Thom โดย Angkor แปลว่า นคร ส่วน Thom แปลว่า ใหญ่ นครธมจึงแปลตรงตัวตามความหมายของชื่อคือนครที่มีขนาดใหญ่นั่นเอง ชานนท์ขับลอดผ่านประตูซุ้มที่ขนาบด้วยขบวนยักษ์ทั้ง 2 ฝั่งที่อยู่ในท่าชักกะเย่อกับนาคอยู่ ตรงซุ้มประตูเป็นรูปหน้ายิ้มคอยต้อนรับ



เรามุ่งตรงทางไปเรื่อยๆ ชานนท์เล่าว่านครธมนี้เป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เราแล่นมาถึง Terrace of the Elephants ผมดูแล้วโบราณสถานนี้คล้ายๆกับวัดช้างล้อมที่สุโขทัย คือประดับฐานรอบด้วยรูปปั้นช้างจำนวนมาก ตัวโบราณสถานนี้อยู่ตรงทาง 3 แพร่งพอดี คือทางสายหลักวิ่งมาตรงๆจะเจอกับตัวโบราณสถานแล้วมีถนนแยกซ้ายขวา โดยทั้ง 2 ฝั่งเป็นพื้นที่โล่งขนาดใหญ่ ชานนท์เล่าว่าที่แห่งนี้เป็นสถานที่เมื่อนักรบกลับจากสงคราม ทั้งกองทัพจะเดินผ่านตรงนี้และเจ้านครก็จะออกมายืนต้อนรับและกล่าวขอบคุณเหล่านักรบ และทำการเลี้ยงฉลองกันในค่ำคืนนั้น ผมนึกภาพตามที่ชานนท์ว่า ภาพเจ้าเมืองยืนจังก้า กางแขนทั้ง 2 ข้างต้อนรับเหล่านักรบผุ้กล้าหาญกลับจากศึก ทั้งขบวนช้างม้าแล้วขนลุกขึ้นมาให้กับความยิ่งใหญ่นั้น

เราเดินทางต่อผ่านปราสาทบางส่วนซึ่งปิดซ่อมไว้ด้วยป้ายภาษาจีนเต็มไปหมด ชานนท์บอกว่าคนที่ออกเงินค่าบูรณะให้คือทางการจีนนั่นเอง และที่จริงแล้วปราสาทหลังนั้นซ่อมเสร็จแล้ว สังเกตได้จากเครื่องมือต่างๆไม่มี มีเพียงแค่ม้านั่งเหล็กล้อมรอบไปด้วยผ้าที่ติดป้ายภาษาจีนไว้เท่านั้น
"ตอนนี้เขารอทางจีนมาเปิดอย่างเป็นทางการน่ะ" ชานนท์บอกผม
"นี่เขามาซ่อมให้ฟรีๆเลยหรอ แล้วทางการจีนได้ผลตอบแทนอะไรหรือเปล่าครับ" ผมถาม
"ได้สิ ได้เยอะด้วย นอกจากเขาการบูรณะร่วมแล้ว จีนยังได้สัมปทานเหมืองอีกด้วย" ชานนท์ตอบ
นั่นสินะ ในโลกนี้จะมีอะไรได้มาฟรีๆมีที่ไหน แต่อย่างน้อยได้ผลประโยชน์ร่วมกันก็น่าจะดีสำหรับทางเขมรเอง


และในที่สุดเราก็มาถึงปราสาทบายน ช่วงเวลานั้นเริ่มเย็นแล้ว เราเดินผ่านโถงเต้นรำ ที่มีหลายโถงจนเข้าไปถึงปราสาทชั้นใน ซึ่งข้างในตอนนี้นั้นมืดมาก ผมเห็นเด็กชาวบ้านวิ่งเล่นกันอยู่ข้างใน แต่ละคนถือไฟฉายอยู่ในมือ บางทีสถานที่แห่งนี้ก็คงเป็นเหมือนสนามเด็กเล่นของเด็กพวกนี้ละมั้ง ชานนท์ไม่ได้พกไฟฉายมา เราจึงค่อยๆเดินตามแสงที่ส่องลงมาตามรอยแยกของซากโบราณสถานแห่งนี้ ภายในตัวปราสาทนั้นมีซอกหลืบมากมาย บางส่วนมีเชือกกั้นไว้ ผมจึงเดินไปตามทางที่เปิดให้เดิน และพอเลี้ยวเข้ามุมปราสาทผมจึงเห็นเด็กอีกกลุ่มซึ่งก็ถือไฟฉายในมือไว้ เหมือนกัน โดย 1 ในเด็กกลุ่มนั้นกำลังเล่าประวัติความเป็นมาของปราสาทหลังนี้ให้นักท่อง เที่ยวต่างชาติที่ยืนฟังอย่างตั้งใจอยู่ ผมเข้าใจว่าที่เด็กพวกนั้นมาวิ่งเล่นในปราสาทแห่งนี้ก็เพื่อทำหน้าที่เป็น ไกด์นำทางนั่นเอง อาจจะได้บ้างไม่ได้บ้างก็แล้วแต่จังหวะว่านักท่องเที่ยวที่มานั้นจ้างไกด์มา ด้วยหรือไม่ ซึ่งเท่าที่ผมสังเกตดูก็มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่มาเที่ยวกันเอง ดูกันเองโดยไม่ต้องมีไกด์

เท่าที่ผ่านมาทั้งวันนี้ ผมและแฟนลงความเห็นว่าเราชอบปราสาทบายนที่สุด อาจจะด้วยอากาศที่เย็นสบายและตัวปราสาทที่ยังมีหลังคาอยุ่ทำให้เราไม่เหนื่อยมากนัก และเมื่อถามชานนท์ถึงปราสาทที่เขาชอบที่สุด เขาก็บอกว่าชอบปราสาทบายนนี้มากที่สุดเหมือนกัน
"อาจจะเป็นรอยยิ้มที่ทำให้ผมชอบละมั้ง" ชานนท์ตอบ

ผมมองไปตามหน้ารูปปั้นต่างๆ ที่อยู่บนยอดปรางค์ โดยปรางค์แต่ละอันจะมีหน้ายิ้มนี้อยู่ 4 ด้าน และมีทั้งหมด 54 ปรางค์ นั่นหมายถึงในปราสาทแห่งนี้จะมีหน้ายิ้มบายนนี้อยู่ 216 หน้า ด้วยความที่หน้านั้นยิ้มแบบบายน ซึ่งเป็นยิ้มที่อบอุ่นทำให้รู้สึกปลอดภัย ผมเคยอ่านเจอในหนังสือประวัติศาสตร์เล่มไหนสักเล่มกล่าวไว้ว่า หน้าบายนนี้จำลองมาจากเจ้าครองนครนี่เอง ซึ่งทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าปราสาทแห่งนี้มีเจ้าครองนครคอยดูแลปกป้องอันตรายอยู่ และในทางกลับกันก็สามารถแปลได้ว่า "ข้ากำลังจับตามองเจ้าอยู่"

ผมเดินชื่นชมความงามของปราสาทบายนแห่งนี้ไปรอบๆ พลางทึ่งกับความสามารถของคนออกแบบ ที่ไม่ว่าจะเดินไปมุมไหน เหลี่ยมไหน หน้ายิ้มบายนที่ว่าก็จะอยุ่ในรัศมีการมองเห็นเสมอ หน้ายิ้มที่หลับตาพาลให้ผมจินตนาการว่าถ้าเป็นตอนโกรธหน้ายิ้มที่ว่าก็อาจจะลืมตาขึ้นมาก็ได้ เราเดินเยี่ยมชม นั่งพักที่ปราสาทบายนแห่งนี้จนเย็นย่ำ และเห็นเจ้าหน้าที่บางส่วนกำลังปัดกวาดห้องที่มีเชือกกั้นไว้ไม่ให้เข้าอยู่ ผมจึงถามชานนท์ว่าปกติเขาทำความสะอาดกันอย่างนี้ทุกวันหรือ


ชานนท์จึงเล่าเรื่องที่น่าตกใจให้ฟังว่า เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เองมีนักท่องเที่ยวหญิงชาวสวิสคนหนึ่งไปหลบอยู่ในตัวปราสาทบายนตอนกลางคืน ซึ่งปราสาทบายนนี่เป็นปราสาทที่มีขนาดใหญ่มาก สาวสวิสคนนั้นก็แอบอยู่ในซอกหลืบของปราสาท จนกระทั่งเจ้าหน้าที่กลับบ้านไปหมดแล้ว ผมลองนึกภาพตามแล้วจินตนาการถึงบรรยากาศในตอนนั้นว่าเป็นช่วงกลางคืนที่มืดสนิทไม่มีแสงไฟ บนท้องฟ้าเห็นแต่แสงดาว และเงาที่ไหววูบไปตามปราสาท หน้ายิ้มบายนภายใต้แสงจันทร์จะมีลักษณะอย่างไรผมก็ไม่อาจรู้ ผมไม่เข้าใจว่าสาวสวิสคนนั้นจะแอบเข้ามาทำอะไรในปราสาทที่มืดมิดและดูวังเวงคนเดียวแบบนี้
"แล้วคุณรู้ได้ยังไงว่านักท่องเที่ยวคนนั้นหลบอยู่ที่นี่" ผมถาม
"ตอนเช้าพอเจ้าหน้าที่เริ่มมา เราพบนักท่องเที่ยวคนนั้นกับซากของพระพุทธรูปที่เพิ่งจะถูกทำลาย" ชานนท์ตอบ
"หมายความว่านักท่องเที่ยวคนนั้นแอบอยู่ทั้งคืนในปราสาทที่มืดๆ เพื่อที่จะทำลายรูปปั้นพระอย่างงั้นหรือ" ผมถามย้ำ
"ใช่แล้วล่ะ" ชานนท์ตอบ
"ฟังดูแล้ว ดูท่าจะสติไม่ดีนะแบบนั้น" ผมออกความเห็น
"ผมก็คิดว่างั้น แต่อย่างไรก็แล้วแต่ เราก็ได้ไล่นักท่องเที่ยวคนนั้นออกนอกประเทศในวันนั้นเอง การที่มีคนมาทำลายโบราณสถานนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่และเร่งด่วนมาก" ชานนท์เสริม
"หรอครับ แล้วตอนนี้นักท่องเที่ยวคนนี้โดนเนรเทศไปไหนแล้วล่ะ" ผมถามอย่างไม่คิดอะไร
"ตอนนี้น่าจะอยู่ที่ประเทศไทยนะ" ชานนท์ตอบกลับมา
อ้าว...

Monday, October 27, 2014

Angkor #4: ชาวนคร


นอกเหนือไปจากปราสาทและกองหินทั้งหลายแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผมพบเห็นได้แทบทุกโบราณสถานที่เราไปก็คือ ร้านค้าขายของที่ระลึกซึ่งเป็นคนท้องถิ่นมาขาย อารมณ์คล้ายๆซุ้มขายของที่ระลึกแบบบ้านเราแต่เป็นเพิงเล็กๆเรียงติดกัน นอกจากนี้ยังมีเหล่าเด็กน้อยที่หิ้วตะกร้าขายพวงกุญแจ แม่เหล็กติดตู้เย็น และอะไรต่ออะไรจิปาถะมากมาย เด็กน้อยเหล่านี้จะวิ่งเข้ามาหาคุณทันทีที่คุณย่างเข้าเขตร้านค้าของที่ระลึก บางส่วนจะตามคุณตั้งแต่ลงจากรถไปถึงทางเข้าเลยทีเดียว และถ้าคุณหลวมตัวซื้อไปสักคนนึงแล้วล่ะก็ บรรดาแม่ค้าตัวน้อยทั้งหลายจะวิ่งมาหาคุณกันเป็นพรวน

การปฎิเสธว่าซื้อไปแล้วหากซื้อซ้ำอีกดูจะใช้ไม่ได้ผลกับที่นี่ ด้วยว่าเด็กน้อยเหล่านี้จะอ้อนวอนให้พวกคุณอุดหนุนของๆเธอบ้าง ถ้าคุณใจแข็งก้สามารถปฎิเสธได้โดยไม่ต้องเสียเงิน แต่ถ้าคุณใจอ่อน บางทีคุณก็อาจจะอยากอุดหนุนอะไรเล็กๆน้อยๆให้กับเด็กพวกนี้บ้าง ที่สำคัญคือการต่อราคากับเด็กน้อยเหล่านี้ก็น่าสนใจไม่ใช่น้อย

ทันทีที่ผมก้าวลงมาจากรถ สาวน้อยรายหนึ่งก็วิ่งเข้ามาพร้อมกับตะกร้าในมือของเธอ
"พี่อยากได้พวงกุญแจไหม หนูขายแผงละ 5 เหรียญ" เธอส่งเสียงเป็นภาษาอังกฤษเจื้อยแจ้วมา
"อืม ไม่เอาล่ะ ผมไม่อยากได้" ผมบอกปัดไปพลางดูพวงกุญแจรูปนครวัดที่เป็นทั้งที่ตัดเล็บและที่เปิดขวด ทั้งแผงนี้มีอยู่ 5 อัน ผมคิดว่าพวงกุญแจพวกนี้ทำในจีน
"นะ ช่วยหนูซื้อหน่อยนะพี่" เธอยังคงอ้อนวอนอยู่
ผมหันไปมองสาวน้อยคนนั้นอีกที ผนวกกับความสงสารแต่ราคา 2 เหรียญยังดูแพงไปสำหรับของที่ผมคงไม่ได้ใช้ประโยชน์เท่าไหร่นัก
"ถ้าคิดเป็นบาท ราคาเท่าไหร่" ผมถามเธอเป็นภาษาอังกฤษ
"เป็นบาทคิด 150 บาท พี่ช่วยหนูซื้อหน่อยนะ" เธอตอบกลับเป็นภาษาไทยชัดเจน
ผมยังแปลกใจกับการเปลี่ยนภาษาที่รวดเร็ว แต่ก็ยังคิดว่าราคาที่ว่ามันแพงไปอยู่จึงปฎิเสธแล้วเดินต่อไป
"นะพี่ ช่วยหนูหน่อยนะ" เธอเดินตามผมมาไม่ห่าง
"อ่ะ 4 เหรียญ" เธอต่อรอง
"ไม่เอาๆ แพงไป ไม่อยากได้ด้วย" ผมบอกปัด
"อ่ะ ทั้งแผง 100 เดียว ช่วยหนูซื้อหน่อยเถอะนะๆ" เธอร้องขอซ้ำๆ
สุดท้ายผมก็ใจอ่อน และด้วยราคาแผงละ 100 บาท ก็ไม่ได้แย่เกินไปนักผมจึงยอมให้เธอชนะในรอบนี้ไป และทันทีที่ผมจ่ายเงินให้เธอ เด็กน้อยที่แบกตะกร้าอยู่ 4-5 คนก็วิ่งเข้ามารุมล้อมผมอย่างรวดเร็ว ดูเหมือนทุกคนอยากให้ผมซื้ออะไรสักอย่างจากพวกเขาไป ซึ่งแน่นอนว่าของที่มีมันก็เหมือนกันทั้งหมดน่ะแหละ

"ไม่เอา มีตั้ง5อันแล้วแน่ะ จะเอาไปทำไมอีก" ผมพยายามปิดฉากการสนทนาพลางชูพวงกุญแจทั้งแผงให้เด็กน้อยดู
"ซื้ออีกน่า พี่ยังไม่ได้ซื้อกับผมนี่" เด็กน้อยเริ่มต่อรอง
"ไม่เอาๆ" ผมรีบเดินหนีก่อนที่จะไม่ได้เยี่ยมชมโบราณสถาน
"แผงละ 120 เอ้า" เด็กน้อยตะโกน
"เมื่อกี้ซื้อมา 100 เดียวเอง" ผมตะโกนตอบ
"เอ้า แผงละ 100"
"ก็มีแล้วไงแผงละร้อยน่ะ"
"เอ้า แผงละ 80" เด็กน้อยยังไม่ยอมแพ้
ผมไม่สนใจยังคงเดินไปที่ทางเข้า สุดท้ายเด็กน้อยตะโกนไล่หลังมาว่า
"แผงละ 50 เอ้า"

ผมชะงักไปนิดหนึ่ง แล้วก็เดินต่อ ในใจส่วนนึงผมแอบคิดว่านี่ถ้าเมื่อกี้ต่อราคากับสาวน้อยรายแรก อาจจะได้ราคาที่ถูกกว่านี้ก็ได้ ผมบอกชานนท์ ชานนท์หัวเราะแล้วบอกผมว่า พอเจ้าเด็กพวกนี้รู้ว่าคุณคงไม่ซื้อแน่ๆแล้ว พวกเขาจะบอกราคาที่น่าสนใจให้คุณย้อนกลับไปอีกที มันเป็นวิธีการขายอย่างหนึ่งเท่านั้น แล้วบอกผมว่าไม่ต้องกังวล ราคาที่ได้มาก็ถูกแล้ว

ผมหัวเราะให้กับบรรดาลูกเล่นของพ่อค้าแม่ค้ารุ่นจิ๋วเหล่านี้ แล้วก็อดนึกไม่ได้ว่าตลอดเวลาที่ผมทำการเจรจากับเหล่าเด็กน้อยนั้น ผมพูดคุยกับเหล่าเด็กน้อยด้วยภาษาไทย การโต้ตอบต่อรองราคาถามสลับระหว่างค่าเงินบาทกับดอลล่าห์เป็นไปอย่างไหลลื่น แม้บางคนที่พูดภาษาไทยไม่ได้ ภาษาอังกฤษที่เหล่าเด็กน้อยรัวออกมาก็ไม่มีติดขัด

ของที่ขายนอกจากของที่ระลึกทั่วไปแล้วยังมีทั้งเสื้อผ้า กางเกงอาละดินและผ้าทอพื้นเมืองอีกด้วย ที่ผมประทับใจเห็นจะเป็น งานแกะหนังเป็นหุ่นแบบหนังตะลุงบ้านเรา คนแกะเป็นวัยรุ่นที่กำลังตั้งใจตอกหนังอย่างขะมักเขม้น น่าเสียดายที่ผมไม่อาจจะหิ้วกลับมาได้ด้วยจำนวนของที่เยอะอยู่แล้วและไม่รู้จะเก็บกลับมายังไงให้คงสภาพเดิม จึงต้องเดินผ่านไปอย่างน่าเสียดาย และแฟนผมก็นึกขึ้นได้ว่ามีคนฝากซื้อของบางอย่างไว้ จึงแวะไปที่ร้านขายกางเกงอาละดินที่อยู่ใกล้ๆ

ขณะที่ผมกำลังเฝ้ามองการต่อราคากับแม่ค้าของเธอด้วยความเพลิดเพลิน เมื่อเธอบอกราคาแม่ค้าไป แม่ค้าจะนิ่งคิดนิดหนึ่งก่อนก้มลงกับพื้นแล้วเขียนราคาเป็นตัวเลขออกมาบนพื้นทราย เมื่อตกลงราคากันยังไม่ได้ก็เขียนด้วยมือลบด้วยตีนกันอยู่ต่อเนื่อง ผมมองพลางคิดหาคำตอบให้ตัวเองว่าบางทีแม่ค้าอาจจะไม่แน่ใจว่าบอกตัวเลขถูกหรือเปล่า การเขียนตัวเลขให้ชัดเจนลงไปบนพื้นเลยจะทำให้เข้าใจตรงกันได้มากกว่า ซึ่งในระหว่างนั้นผมก็ได้หนังสือแนะนำนครวัดเป็นภาษาอังกฤษมาเล่มนึงจากคนที่บอกว่าเราไทยเขมรเป็นเพื่อนบ้านกัน เขาจึงยอมขายให้ผมในราคา 300 บาท จากหน้าปก 27.95 เหรียญ ซึ่งเป็นราคาที่เขาถามว่าผมอยากให้เท่าไหร่ ผมพบว่าการต่อรองราคาของคนที่นี่ เขาจะไม่บอกว่าเขาลดให้ได้เท่าไหร่ เพราะอาจเป็นการปิดประตูคนซื้อไปเลย แต่เขาจะให้เราบอกราคาที่เราจ่ายได้มาและเริ่มจากตรงนั้น ซึ่งผมคิดว่าเป็นวิธีการที่นุ่มนวล ไม่ได้โดนกระชากไปซื้อสักเท่าไหร่นัก เราสามารถปฎิเสธการขายได้ตลอดเวลาถ้าไม่อยากซื้อจริงๆ และพ่อค้าแม่ค้าชาวเขมรก็ไม่ได้แสดงอาหารฮึดฮัดอะไร สิ่งที่ผมเห็นเวลาเราปฎเสธการขายแบบหนักแน่นคือ แววตาที่เศร้าสร้อยพร้อมกับความผิดหวังที่ฉายวูบขึ้นมาเมื่อเราบอกปฎิเสธไป

ผมมาทริปด้วยงบประมาณที่ตั้งไว้ในใจว่าจะไม่ให้เกิน การซื้อของบางอย่างจึงมีงบประมาณที่คิดไว้ว่าจะไม่ให้เกินมากนัก และที่สำคัญถ้าซื้อเยอะแยะผมเกรงว่าจะขนกลับไปไม่หมด

หลังจากผมได้หนังสือมาก็พลิกดูหน้าปราสาทบายนที่เราจะไปกันเป็นที่ต่อไปหลังจากนี้ หนุ่มเขมรคนหนึ่งก็เดินเข้ามาชวนผมคุย
"ปราสาทบายนสวยมากเลยล่ะ" เขาเกริ่น
"ใช่ ผมก้ชอบนะ หน้าบายนดูน่าสนใจดี" ผมตอบ
"ผมมีรูปสลักไม้นะ ถ้าคุณสนใจ" พูดจบ หนุ่มเขมรคนนั้นก็ชูรูปสลักไม้หน้าบายนออกมาให้ผมดู
"โอ้ น่าสนใจดี เท่าไหร่หรอ" ผมถาม
"คุณลองไปดูทางนั้นกับผมไหม ผมมีอีกหลายอย่างเลยล่ะ" หนุ่มเขมรชวน

ผมมองไปทางที่เขาชี้เป็นซุ้มเล็กๆ ประกอบไปด้วยรูปสลักไม้หลากหลายแบบ
โอเค ดูก็ดู ผมทนลูกตื๊อแกมสงสารกับเขาไม่ไหว บวกกับความสนใจที่มีอยู่แล้วด้วย เลยยอมเดินไปดูพลางคิดในใจว่าเอาน่ะอย่างน้อยเดินไปดูก่อน ไม่ชอบก็ไม่เอา

"รูปสลักไม้ชิ้นนั้นราคาเท่าไหร่ครับ" ผมถามพลางชี้ไปที่รูปสลักไม้หน้าบายน
"โอ ชิ้นนั้นพ่อผมทำเองกับมือเลย ขายอยู่ที่ 75 เหรียญเอง ไม่แพงๆ" หนุ่มเขมรหน้าซื่อตอบ
ผมสะอึกไปเล็กน้อย พลางคิดในใจว่าจริงอยู่ที่มันสวยแต่ราคามันแพงไปหน่อยนึง แต่งานฝีมือแบบนี้มันก็น่าจะต้องมีราคาอยู่แล้วล่ะ ยิ่งผมนึกภาพชายชราชาวเขมรนั่งแกะสลักไม้ในบรรยากาศรอบๆโบราณสถานแห่งนี้ ยิ่งทำให้ผมรู้สึกถึงความขลังของงานชิ้นนี้ขึ้นมาทันที

"ผมเข้าใจนะว่าพ่อคุณตั้งใจทำงานชิ้นนี้มา แต่ราคามันสูงไปหน่อยสำหรับผมและผมไม่อยากต่อราคาด้วย เพราะงานที่ดีก็น่าจะได้ราคาที่คู่ควร เอางี้ละกัน คุณบอกราคามาว่าขายได้เท่าไหร่ ถ้าโอเคผมจะซื้อไว้ แต่ถ้าไม่ก็ไม่เป็นไร ผมไม่อยากกดราคางานฝีมือของพ่อคุณน่ะ" ผมบอกหนุ่มเขมรด้วยความเกรงใจ

"คุณให้ได้เท่าไหร่ล่ะ บอกผมมาหน่อยสิ" หนุ่มเขมรหน้ามนตอบ
"20 เหรียญเป็นไง" ผมลองต่อเอาดื้อๆเลยพลางคิดในใจว่าเขาจะโกรธผมไหมนะ
หนุ่มเขมรยืนเงียบๆ ไม่พูดอะไรก่อนจะหยิบรูปสลักไม้กับช้างเซรามิกไว้ใส่เทียนมาวางข้างกัน
"คุณเอารูปสลักพร้อมช้างไหมละ เอาไว้วางเทียนได้นะครับ ผมคิดรวมเป็น 2 ชิ้น 45 เหรียญเท่านั้นเอง"
"อ่า แต่ผมไม่อยากได้ช้างตัวนั้นนี่" ผมชี้ไปที่ช้างเซรามิกจิ๋วที่เห็นได้ตามจตุจักรหรือตามแผงลอยในห้างบิ๊กซี
"เอาแค่รูปสลักไม้คิดเท่าไหร่ครับ" ผมถาม
หนุ่มเขมรนิ่งคิดในใจ ก่อนจะหยิบช้างเพิ่มมาอีกตัวแล้วเอามาวางข้างๆรูปสลักไม้ ตอนนี้รูปสลักไม้มีช้างเซรามิกยิ้มร่าชูงวงอยู่ทั้ง 2 ข้าง
"โอเค ถ้างั้นคุณเอารูปสลักไม้พร้อมช้าง 2 ตัวเป็นไง ผมคิดถูกๆแค่ 55 เหรียญเอง" เขาถามผม
"อืม มันก็สวยนะ แต่ผมไม่ได้อยากได้ช้างนี่นา เอาแค่รูปสลักไม้เท่าไหร่หรอครับ" ผมปฎิเสธช้างน้อยอย่างแข็งขัน
และก็เป็นอีกครั้งที่เขานิ่งคิด สุดท้ายแล้วหนุ่มเขมรเอื้อมมือมาหยิบช้างเซรามิกออกไปตัวนึงแล้วบอกผมว่า
"เอาล่ะ ถ้างั้นรูปสลักไม้พร้อมช้าง 1 ตัว คิดแค่ 35 เหรียญ คุณคิดว่าไง" เขาถาม
"ก็บอกว่าไม่เอาช้างไงละ(โว้ยยยย)" ผมตอบพลางคิดถึงหาคำตอบเรื่องช้าง ว่าทำไมเขาถึงอยากให้ช้างผมนักหนา การขายแบบนี้อาจจะไม่ได้เน้นที่จำนวนของแต่เน้นที่ว่าจะได้จำนวนเงินเท่าไหร่มากกว่า การยัดเยียดช้างให้ผมอาจทำให้เขาได้ราคาที่ต้องการ
"ถ้ามีช้างก็ไม่ซื้อนะ ผมจะเอาแต่รุปสลักไม้" ผมยื่นคำขาด

หนุ่มเขมรหน้ามนคงเห็นว่ายังไงก็คงยัดช้างให้ผมไม่ได้จึงตกลงราคากันในจุดที่พอดีอยู่ที่ 25 เหรียญ ราคาที่แล้วอาจดูแพงมากน้อยแล้วแต่คนมอง แต่ผมถือว่าผมได้อุดหนุนและสนับสนุนให้คนในท้องที่ได้มีงานทำ มิหนำซ้ำพ่อเขาคงดีใจเช่นกันที่งานฝีมือของเขาขายได้

ผมยิ้มให้กับหนุ่มเขมรแล้วกล่าวขอบคุณก่อนเดินจากมาพร้อมกับรูปสลักไม้ในมือ แต่เพียงแค่ถัดไปไม่กี่คูหา ผมก็เห็นรูปสลักไม้อีกเช่นกัน แบบเดียวกับอันเมื่อกี้เลยเรียกได้ว่าถ้าดูเผินๆ ผมคงนึกว่ามันเป็นอันเดียวกันแน่ๆ หนุ่มน้อยเจ้าของร้านเห็นผมหยุดดูอยู่หน้าร้านจึงรี่เข้ามาต้อนรับอย่างรวดเร็ว
"สนใจชิ้นไหนสอบถามได้นะครับ" เขาถาม
"ชิ้นนี้เท่าไหร่หรอครับ" ผมชี้ไปดูรูปสลักไม้หน้าบายน
"โอ ชิ้นนี้หรอครับ มันสวยมากเลยนะ" เขาตอบ
ผมแค่อยากรู้ว่าราคาแต่ละร้านมันเท่ากันไหมเท่านั้น ไม่ได้กะจะซื้ออะไรหรอกเพราะผมเองก็มีเจ้ารูปสลักไม้ชิ้นที่ว่าห่อกระดาษหนังสือพิมพ์อยู่ในมือผมอยู่แล้ว
"เท่าไหร่หรอครับชิ้นนี้" ผมถาม
"คุณนี่ตาถึงจริงๆเลย ราคามันอาจจะสูงหน่อย เพราะว่าชิ้นนี้น่ะ" หนุ่มน้อยบรรยายสรรพคุณเพื่อที่จะได้ดึงราคาขึ้นไป ก่อนจะสรุปให้ผมฟังสั้นๆแต่ได้ใจความว่า

"พ่อของผมทำเองกับมือเลยนะ"

ผ้ากองโตในวันที่แดดดี


ช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ในตอนที่ผมยังอยู่ที่ซานฟรานซิสโกนั้น กิจกรรมปกติก็คงไม่มีอะไรมากไปกว่าพักผ่อน เดินเล่น อ่านหนังสือตามสวนสาธารณะหรือลานเอนกประสงค์กลางเมือง

ยกเว้นก็แต่ในบางครั้งเมื่อมีเหตุจำเป็น เช่นเสื้อผ้าหมดสต๊อกก็จะถึงเวลาที่ต้องทำการซักผ้าเสียที่ โดยมากมักจะ 2 อาทิตย์ต่อครั้ง ในวันนั้นผมจะตื่นตามปกติหลังจากทำธุระส่วนตัวเรียบร้อยแล้ว ราว 9 โมงเช้าผมก็จะหิ้วสิ่งที่ต้องการซักทั้งหมด เสื้อผ้า กางเกง ถุงเท้า ผ้าเช็ดตัว ในบางครั้งก็อาจจะมีผ้าปูเตียงร่วมด้วย

หลังจากนั้นผมจะหิ้วตะกร้าผ้าออกไปที่ร้านซักผ้าที่อยู่หัวมุมถนนเยื้องไปเสียหน่อย โดยมากแล้วช่วงเวลาเช้าแบบนี้มักจะไม่ค่อยมีคนนัก ผมก็จะจัดการยัดเสื้อผ้าทั้งหลาย เทผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่มลงในช่องที่เตรียมไว้ จากนั้นจึงหยอดเหรียญให้เครื่องทำงาน แล้วก็นั่งรอ

เวลาในการซักผ้าแต่ละครั้งจะอยู่ที่ประมาณ 50 นาทีจนแล้วเสร็จปั่นออกมาพอหมาดๆ ผมก็จะใช้เวลานี้เดินไปซื้อของใช้เข้าบ้านที่ซุปเปอร์มาเก็ตใกล้บ้าน โดยจะกะเวลาให้พอซื้อของทุกอย่างเสร็จผ้าก็หยุดปั่นพอดี และผมก็จะมาเอาผ้าใส่ตู้อบอีกราวๆ 45 นาที ซึ่งช่วงเวลานี้ผมก็จะเอาของที่ซื้อมาไปเก็บและนั่งพักในห้องก่อนที่จะลงมาอีกทีเมื่อผ้าที่อบไว้เสร็จเรียบร้อยแล้ว

บางครั้งผมก็ไม่ได้ไปซื้อของใช้อะไรเพิ่มเติม ในวันแบบนั้นผมจะพกหนังสือสักเล่มลงไปด้วย เมื่อเตรียมทุกอย่างเข้าตู้เรียบร้อย ผมก็จะนั่งที่ม้านั่งริมหน้าต่างข้างประตูทางเข้าและอ่านหนังสือไปเรื่อยๆจนผ้าเสร็จ อากาศเย็นๆตอนเช้าๆผสมกับแดดอุ่นๆ กับหนังสือสักเล่มทำให้เวลาผ่านไปโดยไม่รู้ตัว และในบางครั้งสถานที่แห่งนี้ก็มีเป็นจุดเริ่มต้นบทสนทนากับคนแปลกหน้าที่มีกิจกรรมเหมือนกันได้เช่นกัน

เราทุกคนล้วนแต่ต้องการเสื้อผ้าสะอาดเพื่อสวมใส่ จะใหม่หรือเก่ายังไงหากเสื้อนั้นสะอาด คนใส่ก็ย่อมสบาย

To all trains


ที่สถานี BART (Bay Area Rapid Transit) บนถนน Mission ตัดกับ 16 Ave.
ซึ่งย่านนี้เป็นแหล่งรวมชาวเม็กซิกัน และผู้ชอบแสงแดดอันอบอุ่นด้วยว่ามีสวนสาธารณะยอดนิยมอย่าง Dolores Park อยุ่ไม่ไกลนัก

ผมกำลังจะกลับบ้านหลังจากแวะมาทำธุระแถวนี้ และก็เช่นเคยที่ ย่านนี้มักจะมีอะไรแปลกๆเตะตาผมทุกครั้ง (นอกจากเตะตาแล้วอาจโดนเตะอย่างอื่นด้วยก็ได้ถ้าไม่ระวังตัว) ผมจึงถือกล้องไว้ในมืออย่างระมัดระวัง จากนั้นก็รอ

รอจังหวะที่เหมาะสมที่มักจะมาแบบไม่ทันตั้งตัว

Angkor #3: See Angkor




ผมลงมาที่โถงของโรงแรมตอน 7 โมงเช้าเพื่อพบกับไกด์ที่ได้จัดแจงจองไว้กับทางเอเจนซี่ตั้งแต่อยู่ที่ไทยแล้ว  ซึ่งจะว่าไปแล้วในยุดสมัยนี้ที่ข้อมูลข่าวสารมากมาย เราสามารถที่จะหาหนังสือแนะนำการท่องเที่ยวนครวัดและทำการเดินเที่ยวชมตามคำแนะนำในหนังสือท่องเที่ยวนั้นได้อย่างสบาย ในตอนแรกผมก็วางแผนไว้เช่นนั้น แต่หลังจากคิดไปคิดมาหลายตลบ ผมคิดว่าการที่มีคนมาแนะนำหรือเล่าเรื่องราวให้ฟังน่าจะดีกว่าสำหรับการมาครั้งแรก ด้วยว่าเราจะได้ไม่ต้องมัวแต่ก้มหน้าหาข้อมูลตามหนังสือ แต่มีคนมาเล่าให้เราฟังขณะที่เราสามารถมองไปรอบๆได้ตามใจชอบและการได้เจ้าถิ่นมาแนะนำอาจทำให้เราได้อะไรที่ในหนังสือแนะนำการท่องเที่ยวไม่ได้บอกไว้ก็ได้ ผมจึงเลือกไกด์นำทางสำหรับการมาเยือนนครวัดครั้งแรกของผม และไกด์คนนั้นมีชื่อว่า ชานนท์

ชานนท์ในชุดเสื้อเชิ้ตแขนยาวสีน้ำตาลอ่อนมีตราไกด์แปะอยู่ที่แขนเสื้อด้านซ้ายและกลัดป้ายชื่อไว้ที่หน้าอกด้านขวา สวมกางเกงขายาวสีเข้มกล่าวแนะนำตัวและทักทายผมด้วยภาษาอังกฤษที่ลื่นไหลและเป็นกันเอง ผมจองไกด์ผ่านทางเวบเอเจนซี่ซึ่งติดต่อผ่านทางอีเมลเป็นภาษาอังกฤษ แต่ผมเพิ่งมารู้ภายหลังขณะเยี่ยมชมว่านอกจากภาษาอังกฤษแล้ว ยังมีภาษาอื่นเป็นตัวเลือกให้อีก ทั้ง ไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ชานนท์บอกผมว่าไกด์แต่ละคนจะมีใบอนุญาตบอกไว้ว่าไกด์คนนี้สำหรับภาษาอะไร ใบอนุญาตของชานนท์เป็นไกด์สำหรับภาษาอังกฤษ แต่ชานนท์สามารถพูดภาษาไทยได้นิดหน่อยเพราะเคยเรียนมา นั่นหมายความว่าอย่างน้อยชานนท์พูดได้ 3 ภาษาคือ เขมร อังกฤษ ไทย ผมถามชานนท์ว่าแล้วทำไมไม่สอบเป็นไกด์ภาษาไทยไว้ด้วยล่ะ ชานนท์เล่าว่าช่วงที่เขาเรียนภาษาไทย เขาก็มักจะฝึกพูดภาษาไทยตามวิธีการฝึกภาษาที่ดีคือ การใช้บ่อยๆ ภาษาเป็นสิ่งที่ต้องใช้เราถึงจะพัฒนา และชานนท์ก็ได้มีโอกาสฝึกใช้ภาษาไทยอย่างเต็มรูปแบบตอนที่เขามาเที่ยวที่ประตูน้ำ ชานนท์เล่าว่าเขาพูดภาษาไทยถามราคาของกับ แม่ค้า แต่สำเนียงของเขาคงเป็นที่น่าขบขันของกลุ่มแม่ค้า เมื่อเขาถามอะไรไปจึงได้รับแต่เสียงหัวเราะเป็นคำตอบ ไม่มีใครตอบคำถามของชานนท์แม้ชานนท์จะพยายามเท่าไหร่ นับตั้งแต่นั้นชานนท์จึงเลิกพูดภาษาไทย

ผมขึ้นรถของชานนท์ (การจองไกด์ที่นี่จะรวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่นรถที่ใช้ในการเดินทาง น้ำ เปล่า ผ้าเย็นยกเว้นค่าเข้าและค่าอาหารที่เราต้องจ่ายเอง) มาที่ศูนย์ท่องเที่ยวเพื่อซื้อตั๋วเข้าเยี่ยมชม ซึ่งแบ่งเป็นจำนวนวันในการเยี่ยมชม ผมจึงซื้อตั๋วเข้าเยี่ยมชมสำหรับวันเดียวมา 2 ใบในราคาใบละ 20$ โดยบนตั๋วของแต่ละคนนั้นจะมีรูปถ่ายของเราติดเอาไว้ด้วย และเราต้องเก็บตั๋วไว้นี้ไว้ให้ดี เนื่องจากเราต้องควักตั๋วใบนี้ออกมาให้ดูทุกครั้งที่เข้าชมโบราณสถานแต่ละแห่ง หากตั๋วเสียหายหรือชำรุดจนมองไม่เห็นรูปบนบัตร เราต้องซื้อตั๋วใบใหม่แทน

ราว 7.30 . เราก็มาถึงนครวัด ชานนท์จอดรถไว้ที่ลานว่างใกล้ๆตามใจชอบ จากนั้นพาเราเดินข้ามถนนแบบคนท้องถิ่น คือเดินตัดสามแยกมาตรงกลางดุ่มๆเลย แม้จะมีรถวิ่งสวนไปมาชานนท์ก็หาได้สนใจไม่ ผมเองถือคติที่ว่าเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม จึงข้ามถนนติดๆกับชานนท์ เรียกได้ว่าถ้าชานนท์ไม่โดนรถชนผมก็ไม่โดนเช่นกัน หลังจากข้ามถนนมาได้เราก็มาถึงขั้นบันไดแรกของนครวัดที่ซึ่งต้อนรับเหล่านักท่องเที่ยวด้วยสิงห์และนาคอยู่  2 ฟากทางเดิน นอกจากทั้ง 2 จะมีหน้าที่เฝ้ารักษานครวัดแล้วยังมีความหมายแฝงอย่างอื่นด้วย
สิงห์เป็นตัวแทนถึงเพศหญิง ส่วนนาคเป็นตัวแทนถึงเพศชาย เมื่อทั้งสองอยู่ด้วยกันจึงเกิดการรักษาสมดุลของพลังขึ้น
แปลว่าสิงห์ทุกตัวในที่นี้เป็นตัวเมียหรอผมถาม
ไม่ใช่ตัวเมีย แต่แทนถึงพลังของเพศหญิง ชานนท์ตอบ
แม้ผมจะไม่ค่อยเข้าใจความหมายนักแต่ก็เชื่อตามที่ชานนท์บอก เพราะรูปสลักสิงห์หินเองยังมีไข่อยู่เลย จากนั้นเราจึงก้าวขึ้นสู่ทางเดินแรก

ความรู้สึกแรกที่เห็นเลยคือ โว้ว (Woah) ซึ่งเป็นขั้นกว่าของ ว้าว (Wow) ภาพทางเดินยาวที่กว้างขนาดถนน 4 เลน ล้อมรอบไปด้วยน้ำ ทอดยาวเหยียดไปจนถึงซุ้มประตูแรกของนครวัด ผมก้มลงมองที่พื้นหินที่ประกอบไปด้วยหินรูปทรงต่างๆอัดแน่นกันไม่เป็นระเบียบอย่างเรียบร้อยอยู่บนพื้น ผมสังเกตเห็นว่ากองหินตรงกลางที่แบ่งพื้นทางด้านซ้ายและขวาออกจากกัน โดยพื้นทางด้านซ้ายดูเป็นซากปรักหักพักมากกว่าพื้นทางด้านขวาที่ดูเนียนเรียบ
ฝั่งขวานี้ทางเยอรมันออกทุนมาบูรณะให้ ชานนท์บอกผม
แล้วฝั่งซ้ายล่ะ ผมถามและชี้ไปทางกองหินที่เป็นหลุมอยุ่ข้างๆ
ฝั่งนั้นเราเก็บไว้ให้ดูว่า พื้นดั้งเดิมมันมีสภาพเป็นอย่างไร ชานนท์ตอบ
ผมไม่เข้าใจนักว่าทำไมเขาถึงไม่ซ่อมให้เสร็จไปทั้ง 2 ด้านพร้อมกัน แต่ผมคิดว่าชานนท์ไม่ได้แถ บางทีเขาอาจจะซ่อมให้เสร็จทีละด้านก็ได้ หรือบางทีการปล่อยไว้แบบนี้อาจทำให้เราระมัดระวังในการใช้งานมากขึ้นก็ได้

ชานนท์ชี้ตัวเลขที่สลักลงบนหินให้ผมดูว่า
ตัวเลขนี้สลักไว้เพื่อบอกถึงตำแหน่งที่พบ เมื่อทำการยกไปซ่อมแซมเราจะนำมันกลับมาวางไว้ที่เดิมที่เราเจอในตอนแรก
และที่ๆเรากำลังเดินอยู่นี้ ชานนท์ชี้ไปที่พื้นหิน
เปรียบเหมือนกับสะพานที่จะนำเราไปสู่อีกจักรวาลหนึ่ง โดยแม่น้ำที่ล้อมรอบเป็นตัวแทนเหมือนจักรวาลที่ล้อมรอบเราอยู่ เราจะเดินผ่านจักรวาลแต่ละชั้นไปเรื่อยๆ จนถึงชั้นในสุดที่เปรียบเหมือนยอดเขาที่สูงสุด
ผมเข้าใจว่าชานนท์หมายถึงเขาไกรลาส

"นครวัดสร้างขึ้นตามอิทธิพลของศาสนาฮินดู คือการนับถือพระเจ้า ดังนั้นการสร้างนครวัดจึงมีแนวคิดเหมือนการสร้างที่อยู่ของพระเจ้า และใช้สำหรับประกอบพิธีทางศาสนาสำหรับกษัตริย์ 

ผมเดินไปตามทางเดินจนถึงประตูใหญ่แห่งหนึ่ง ที่ซึ่งตรงธรณีประตูและทางเดินในส่วนอื่นๆเขาจะทำบันไดไม้คร่อมไว้ แต่ประตูในส่วนนี้ไม่มีทางเดินไม้ค่อม ผมเองไม่แน่ใจนักว่าในปราสาทหินอย่างนี้ เขาจะถือเรื่องการเหยียบธรณีประตูหรือไม่ จึงพยายามก้าวข้ามซึ่งก็เป็นไปอย่างทุลักทุเลพอควร เนื่องด้วยส่วนที่เป็นธรณีประตูนั้นทำจากแผ่นหินที่มีขนาดกว้างประมาณ 50 ซม. ชานนท์เห็นผมข้ามแบบนั้นจึงทำท่าประหลาดใจ ผมจึงถามชานนท์ว่า
"ที่นี่ปกติแล้วเขาข้ามธรณีประตูกันหรือเปล่าครับ"
ชานนท์ตอบผมว่า "ผมไม่รู้ว่าที่ไทยเขานับถืออะไรยังไงนะ แต่ที่นี่ธรณีประตูเปรียบเหมือนสะพานเชื่อมโลก การก้าวขึ้นสู่สะพานก็คือการเดินไปสู่อีกโลกหนึ่ง หากเราไม่ข้ามสะพานการที่เราข้ามไปก็ไม่มีความหมายอะไร"
นอกจากนั้นชานนท์ยังชี้ให้ผมเห็นถึงว่าที่บริเวณส่วนที่จะเป็นธรณีประตูนั้นมีขนาดกว้างกว่าปกติ ก็เพื่อให้คนที่มาเหยียบข้ามกันนั่นเอง ผมฟังชานนท์พูดดังนั้นจึงไม่พลาดที่จะเหยียบไปทั่วขั้นบันไดของปราสาทหินนี้

ชานนท์เล่าให้ผมฟังถึงประวัติความเป็นมาของนครวัด ผมฟังชานนท์เล่าไปพลาง เอามือลูบไปตามความสากของแผ่นหินไปพลาง บางส่วนเป็นรูปสลักและรูปปั้นที่ทำจากหินทราย และเป็นที่น่าเศร้าที่รูปปั้นต่างๆก็ประสบชะตากรรมเดียวกับรูปปั้นพระที่ไทย นั่นคือการโดนตัดเศียรไปขาย
"รูปปั้นทั้งหลายถูกทำลายโดนบรรดาคนโลภ" ชานนท์เล่าให้ผมฟัง
"เขาเอาไปขายในตลาดมืแม้สมัยก่อนโบราณสถานทั้งหลายจะถูกดูแลโดยรัฐบาลเอง แต่บรรดาโบราณวัตถุเหล่านี้ก็ยังสูบหายอยู่เรื่อย และน่าแปลกที่คนในรัฐบาลที่ดูแลเรื่องนี้กลับรวยขึ้นๆ มีรถแพงๆขับและเป็นเจ้าของโรงแรมหลายแห่งในเสียมเรียบนี้" ชานนท์บอกผม
"โอ มันแย่จริงๆนะแบบนี้" ผมตอบพลางนึกไปถึงเหตุการณ์ทำนองเดียวกันที่เกิดขึ้นที่ไทย
"ไม่แน่นะ โรงแรมที่คุณพักอยู่พวกเขาเหล่านั้นอาจเป็นเจ้าของก็ได้" ชานนท์ทิ้งท้าย

บางทีผมหลังจากจบทริปวันนี้ควรจะกลับไปเช็กข้อมูลเกี่ยวกับโรงแรมที่ผมพักสักหน่อยนึง

"แต่ก็ไม่ใช่ทุกครั้งที่โบราณสถานจะถูกทำลายด้วยความโลภ บางครั้งความไม่รู้ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง" ชานนท์เกริ่น
"ความไม่รู้" ผมย้ำ
"ใช่ครับ สมัยก่อนที่จะมีการบูรณะและดูแลอย่างเป็นทางการ โบราณสถานหลายแห่งถูกชาวบ้านรื้อถอนไป" ชานนท์เล่าต่อ
ผมนึกภาพในใจว่าเห็นกลุ่มชาวบ้านพากันยื้อแย่งซากโบราณสถานแต่ก็นึกไม่ออกว่าจะเอาไปทำอะไรได้ ก็มันมีแต่กองหินนี่
"แล้วเขาเอาไปทำอะไรกันหรอครับ" ผมถามความสงสัยนี้กับชานนท์
ชานนท์ชี้ไปที่หินก้อนนึงแล้วบอกกับผมว่า
"เขาเอาไปทำครัวกัน"
ผมนิ่งไปแวบนึงพลางคิดว่าชานนท์กำลังอำผมอยุ่หรือเปล่า แต่เมื่อชานนท์เล่าให้ฟังว่ามันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยก่อน ผมจึงพอจะปะติดปะต่อภาพได้ว่า ชาวบ้านขนหินเอาไปทำก้อนเส้า (หินที่ใช้รองเตาแบบเวลาเราหุงข้าวสนามแบบลูกเสือน่ะ) นั่นเอง

จริงแท้และแน่นอน นี่คือความจริงของชีวิต ผมไม่โทษกล่าวกลุ่มชาวบ้านในสมัยนั้นแม้แต่นิด การมีอยู่ของโบราณสถานในสมัยนี้นับเป็นคุณค่าความจิตใจและความงามของศิลปะ แต่เมื่อชาวบ้านที่ยังท้องหิวคงไม่สามารถเข้าใจถึงประโยชน์ของความงามในองหินเหล่านี้ได้ จึงหยิบไปด้วยไม่รู้ 

และเมื่อไม่รู้ย่อมไม่ผิด อย่างไรชาวบ้านก็ได้ใช้ประโยชน์จากตันนครวัดนี้แล้วเช่นกัน ไม่ได้ประโยชน์ด้านศิลปะก็ด้วยประโยชน์ใช้สอยแทน

ชานนท์เล่าว่าในสมัยก่อนชาวบ้านนับถือธาตุ (Elementism) ดิน น้ำ ลม ไฟ ต่อจากนั้นจึงถึงยุคของศาสนาฮินดู (Hindunism) ซึ่งนครวัดเองก็สร้างเพื่อเป็นศาสนสถานของศาสนาฮินดูนี่เอง แต่นครวัดก็ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นสำหรับศาสนาฮินดูโดยเฉพาะ ภายหลังเมื่อมีการเข้ามาของศาสนาพุทธ ตัวนครวัดเองก็ได้ปรับเปลี่ยนการใช้งานเพื่อรองรับศาสนาพุทธเช่นกัน

"It was Elementism, Hindunism and then Buddhism" ชานนท์สรุป  
 
“So what’s now?” ด้วยความสงสัยผมจึงถามชานนท์ว่าแล้วตอนนี้ที่นี่เขานับถือศาสนาอะไรกันเป็นหลัก
ชานนท์ยิ้มกริ่มเหมือนรอให้ผมถามคำถามนี้อยู่แล้วก่อนจะตอบว่า
“Now it’s Tourism”

Sunday, October 26, 2014

Newyork


นิวยอร์กยามใกล้ค่ำ กลับสว่างไสวมากกว่าตอนกลางวัน
แสงไฟจากร้านค้าและป้ายนีออนต่างๆ ถูกจุดขึ้นมาเพื่อต้อนรับยามราตรีที่กำลังย่างกราย

นิวยอร์กเป็นเมืองที่อยู่ทางฝั่งตะวันออก ทำให้อุณหภูมิและสภาพอากาศไม่เหมือนกับทางฝั่งตะวันตกที่อากาศอบอุ่น ไม่หนาวหรือร้อนจัดจนเกินไป
ภาพเมืองนิวยอร์กในความทรงจำของผมจึงเป็นเมืองที่มีความเข้มของบรรยากาศจัดมาก สี แสง และผู้คน

ผมถ่ายภาพนี้ขณะที่อยู่บนชั้นสองของรถทัวร์เที่ยวชมเมือง
รถทัวร์ที่ว่านี้มีชั้นบนแบบเปิด ทำให้คุณสามารถมองเห็นวิวของเมืองได้รอบทิศ
ช่วงเวลาที่ผมถ่ายรูปนี้น่าจะประมาณเกือบทุ่มนึง ซึ่งเป็นเวลาที่ผู้คนทั้งหลายทยอยกันเลิกงานและกลับบ้าน

Thursday, October 23, 2014

ขาขึ้น ขาลง




ผมนั่งยองๆหลบอยู่ที่มุมบันไดของสถานีรถไฟ Powell ที่ซานฟรานซิสโก
เพียงเพื่อที่จะรอให้คนหมดจะได้เก็บภาพบันไดโล่งๆ แต่ขณะที่รออยู่นั้นเอง
กลุ่มนักเรียนที่น่าจะออกมาทัศนศึกษากันยกชั้นก็ผ่านมาพอดี

ผมจึงส่องกล้องไปมาเล่น เพื่อรอให้นักเรียนกลุ่มนี้ผ่านไปก่อน
แต่หนึ่งในนั้นดันตะโกนเรียกผมว่า "เฮ้ นายที่มีกล้องนั่นน่ะ ถ่ายฉันหน่อยซี่"
ผมจึงยิ้มขำๆแล้วกดรูปนี้ออกมาโดยบังเอิญ

บังเอิญว่าวัยรุ่นกลุ่มนี้กำลังขึ้นบันไดเลื่อน
บังเอิญว่าคุณลุงคนนี้กำลังลงบันไดมาด้วย
เรารีบขึ้น เพื่อไปถึงจุดหมายได้โดยเร็ว
แต่ค่อยๆลง เพราะขาลงมักจะอันตรายกว่าขาขึ้น

Wednesday, October 22, 2014

Angkor #2: เสียมเรียบ


จริงๆแล้วเรื่องมันควรจะจบลงตรงที่ "แล้วเราก็ออกเดินทางสู่เสียมเรียบอย่างมีความสุข" ในตอนที่แล้ว แต่เรื่องจริงมันไม่ได้ง่ายแบบนั้น หลังจากการแก้ปัญหาที่นั่งด้วยการเอาเก้าอี้หวายมาเสริม แต่สุดท้ายแล้วสาวต่างชาติคนนั้นก็ปฏิเสธไปด้วยว่ามันไม่ปลอดภัยเอาเสียเลย กับไอ้การเอาเก้าอี้มาตั้งไว้ตรงทางเดิน ซึ่งผมก็เห็นพ้องกับเธอนะ ทางออกที่ดีที่สุดในตอนนั้นคือเธอก็นั่งลงกับพื้นรถ เพื่อที่พวกเราจะได้ออกเดินทางกันเสียที

เราออกเดินทางจากสถานีขนส่งปอยเปตราวๆ 5 โมงกว่า โดยคนขับได้แจ้งว่าจะหยุดพักรถเพื่อเข้าห้องน้ำหรือกินข้าวราวๆ 30 นาทีเมื่อรถขับไปได้ครึ่งทาง ถนนหนทางรอบๆของเขมรก็เหมือนกับถนนเชื่อมจังหวัดทั่วไป คือเป็นถนนเล็กๆ 2 เลนพอสวนกันได้ รอบข้างทางมีบ้านคนประปรายเป็นระยะ เมื่อรถขับไปได้สักชั่วโมงนึงฟ้าก็เริ่มมืด ถนนเส้นระหว่างปอยเปต - เสียมเรียบนั้น แทบจะไม่มีไฟถนนข้างทางเลย เรานั่งกันในความมืดมิด อาศัยแสงไฟจากหน้ารถที่ส่องนำทางในระยะ 5 เมตรเท่านั้น และนานๆทีจึงจะมีรถวิ่งสวนมาสักคัน

และท่ามกลางความมืดมิดนั้นเอง คนขับรถก็หักรถเลี้ยวเข้าข้างทางที่มืดสนิท ผมมองไปทางหน้าต่างข้างรถแต่ก็พบแต่ความมืดที่รายล้อมอยู่ รถบัสนำเราเข้าไปในทางอันมืดสนิทเป็นระยะทางกว่า 500 เมตร และที่นั่น ผมมองเห็นแสงไฟอยู่ข้างหน้า ป้ายหน้าร้านเป็นภาษาเขมรกำกับด้วยภาษาอังกฤษอยู่ข้างใต้ เพียงพอที่จะให้รู้ว่าสถานที่แห่งนี้คือร้านอาหารแห่งหนึ่ง


คนขับรถแล่นรถเข้าไปจอดแล้วประกาศว่าเราจะหยุดพักประมาณ 40-50 นาที ซึ่งเรียกเสียงครวญจากผู้โดยสารได้ทั้งคันรถ
"ไหนบอกว่าจะจอดแค่ 30 นาทีไง" สาวต่างชาติที่นั่งเบาะหน้าประท้วง
"50 นาทีแล้วเราค่อยออกเดินทาง" คนขับรถตอบ
"ไม่ มีใครอยากลงไปกินข้าวตอนนี้หรอกน่า เราไปกันต่อเถอะได้โปรด" สาวต่างชาติยังคงประท้วงซึ่งผมแน่ใจว่าเป็นสิ่งที่หลายๆคนบนรถคิดอยู่ในขณะนั้น
คนขับรถดูจะไม่สนใจอะไร หรือไม่เข้าใจว่าสาวต่างชาติคนนั้นจะพูดว่าอะไร แต่เขาก็ดับเครื่องรถแล้วลงไปเลย ทิ้งให้ผู้โดยสารทั้งคันรถอยู่ในความมืด
ผมคิดว่านี่เป็นรูปแบบหนึ่งที่เราเองก็สามารถพบเห็นได้เวลานั่งรถทัวร์ที่ไทย คือทางคนขับรถเองอาจจะตกลงอะไรบางอย่างกับร้านค้าแล้วก็จะพาผู้โดยสารมาลงที่ร้านค้านั้น แล้วคนขับรถก็ได้ค่าตอบแทนกันไป ซึ่งผมจะไม่ว่าอะไรเลยถ้าไม่ใช่ว่าการเดินทางครั้งนี้ เลทไปร่วม 2 ชั่วโมง และยังต้องมาแวะพักที่ร้านอาหารนี้อีกเกือบชั่วโมงอีกด้วย

แต่ผมและนักท่องเที่ยวทั้งหมดก็ไม่มีทางเลือกมากนัก ระหว่างลงไปที่ร้านอาหารข้างล่างหรือนั่งอยู่ในรถทัวร์ร้อนๆที่ดับเครื่องมืดสนิท นักท่องเที่ยวหลายคนจึงลงมานั่งในร้านอาหาร บ้างก็สั่งข้าว แต่ส่วนมากนั่งกินเบียร์และจับกลุ่มสูบบุหรี่กันอยุ่ ร้านอาหารที่ว่านี้มีขนาดใหญ่ และในร้านนอกจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มากับรถบัสนี้แล้วมีเพียงกลุ่มคนท้องถิ่นนั่งกินอาหารแกล้มเบียร์อยู่เพียงโต๊ะเดียวเท่านั้น พนักงานต้อนรับ 4-5 ยืนจับกลุ่มรอให้บริการนักท่องเที่ยวซึ่งเท่าที่ผมสังเกตุมีเพียงนักท่องเที่ยวไม่กี่คนเท่านั้นที่สั่งอาหารมากิน นอกนั้น(รวมทั้งผม) แค่ไปเข้าห้องน้ำและนั่งตบยุงเล่นรอเวลารถออก

หลังจากผ่านไปเกือบชั่วโมง เราจึงได้ฤกษ์ออกเดินทางต่อเสียที ท่ามกลางถนนสายที่มืดสนิทมองออกไปเห็นท้องฟ้าเต็มไปด้วยหมู่ดาว รถบัสวิ่งด้วยความเร็วไม่มากนัก แต่จังหวะเลี้ยวหลบหลุมบนท้องถนนทำให้รถบัสเกิดอาการเหวี่ยงแรงพอสมควร และท่ามกลางความมืดมิดที่อาศัยแสงไฟจากหน้ารถเพียงอย่างเดียว ทำให้จังหวะเบี่ยงหลบหลุมแต่ละหลุมนั้นกระชั้นมาก บางจังหวะก็เรียกเสียงกรี๊ดจากคนในรถได้เป็นระยะ นักท่องเที่ยวชาวยุโรปที่นั่งอยู่ด้านหลังเดินไปหาคนขับและพูดอะไรบางอย่างที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นการบอกให้เขาขับรถให้ช้าลงสัหน่อย ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจเท่าไหร่นักว่าคนขับรถจะเข้าใจที่เขาพูด

กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียด้านข้างผมเริ่มปรึกษากันว่าระยะทางอีกไกลไหมถึงจะถึงเสียมเรียบ บางคนในกลุ่มเสนอให้เดินกันไปจะปลอดภัยกว่า แต่ด้วยความที่ไม่รู้ว่าอีกไกลไหม และถามคนขับรถกี่รอบก็ไม่ได้คำตอบสักทีว่าอีกไกลเท่าไหร่จึงจะถึง เราจึงนั่งอยู่ในรถบัสมืดๆและฝากชะตากรรมไว้กับคนขับรถ ซึ่งหลังจากลุ้นกันอยู่พักใหญ่ๆ เราจึงเข้าสู่ตัวเมืองเสียมเรียบราวๆ 3 ทุ่ม

ถนนในตัวเมืองเสียมเรียบมีสภาพดีพอควร รถไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่นัก ผมมองเห็นรถสามล้อซึ่งเขาเรียกกันว่าตุ๊กๆเหมือนบ้านเรา แต่ที่ไม่เหมือนบ้านเราคือตุ๊กๆที่ว่านี้เป็นเพียงมอเตอร์ไซค์ธรรมดาพ่วงกับเก๋งด้านท้าย มีลักษณะเป็นที่นั่งคล้ายๆรถม้าลำปางบ้านเรา โดยเป็นที่นั่ง 2 ด้านเข้าหากันมีหลังคาคลุมไว้ รถบัสแล่นเข้าสู่ตัวเมืองเรื่อยๆก่อนจะเลี้ยวเข้าซอยที่มืดมิด (อีกแล้ว) และไปจอดในที่พักรถ ซึ่งผมเห็นคนมากมายยืนรออยู่ข้างล่าง และก็เป็นอย่างที่ผมคิดคือ คนพวกนี้คือคนขับรถตุ๊กๆนั่นเอง และที่เขารอก็คือรอผู้โดยสารที่มากับรถบัสคันนี้ นี่คงเป็นไฟท์บังคับที่ทางรถบัสได้วางแผนไว้แล้วตั้งแต่แรก ตั้งแต่ร้านอาหารไปจนถึงการจอดรถในที่ๆยากต่อการเรียกรถตุ๊กๆจากข้างนอก เรื่องนี้อาจไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่นักกับคนที่รู้ทางดี แต่สำหรับคนที่เพิ่งมาต่างเมืองครั้งแรกในสถานที่ๆไม่คุ้นเคยบวกับช่วงเวลากลางคืนด้วย ทำให้หลายคนรวมทั้งผมไม่มีทางเลือก ต้องจำใจใช้บริการตุ๊กๆพวกนี้

ผมบอกชื่อโรงแรม Mekong Angkor Palace Hotel ไปพร้อมกับยื่นแผนที่ที่ปรินท์มาเผื่อไว้ให้คนขับรถตุ๊กๆที่ชื่อ โบรา ดู โบราดูสักพักพลางคุยกับเพื่อนแล้วจึงสรุปราคาออกมาที่คนละ 100 บาทสำหรับระยะทางจากนี่ไปถึงโรงแรมราวๆ 8 กิโลเมตร ผมซึ่งอยู่ในสภาพเหนื่อยกับการเดินทางเต็มที่จึงตกลงจ้างโบราให้พาไปส่งที่โรงแรมที่ว่า โบราบอกผมว่าเขาชื่อโบราไม่ใช่โบแรท โบราพยายามชวนผมคุยแต่ด้วยเสียงลมและความเหนื่อยทำให้ผมไม่มีอารมณ์จะพูดเท่าไหร่นัก และชั่วเวลาไม่นานเราก็มาถึงโรงแรมที่ผมจองไว้ล่วงหน้าตั้งแต่อยู่ที่ไทย โบราพาผมนำเข้าไปในโรงแรมที่ไม่มีคนอยู่เลย แม้แต่พนักงานต้อนรับและสภาพโรงแรมก็ดูมืด ผมพยายามหาทางติดต่อรีเซปชั่นโรงแรม ข้างโบราเองก็ดีใจหาย เขาเดินเข้าไปข้างในช่วยหาพนักงานจนกระทั่งเจอพนักงานต้อนรับโรงแรมคนนึงจนได้ และผมถึงรู้ในตอนนั้นเองว่า ตอนนี้โรงแรมกำลังปิดซ่อมแซมอยู่

เอาล่ะสิ แล้วทีนี้จะทำยังไง ผมถามย้ำพนักงานต้อนรับอีกรอบว่าแปลว่าโรงแรมนี้ไม่เปิดบริการวันนี้ใข่ไหม ซึ่งได้รับคำยืนยันแน่นอนจากพนักงานแต่ยังดีที่ทางโรงแรมได้จัดการโอนผมไปยังโรมแรมอื่นในเครือเรียบร้อยแล้ว สนนราคาที่พักก็ราคาเดิมคือคืนละ 30$ และอยู่ห่างกันแค่ซอยถัดไปเท่านั้น ผมและโบราจึงพากันขอบคุณพนักงานคนนั้นที่มายืนส่งเราจนถึงหน้าโรงแรม และโบราก็พาผมไปยังโรมแรมใหม่ที่ชื่อ Bayan Leaf Hotel

โรงแรมนี้มีสระว่ายน้ำอยู่หน้าโรงแรม ทางเข้าดูสะอาด แม้จะเป็นโรงแรมไม่ใหญ่แต่สภาพโดยรวมแล้วไม่เลวเลยทีเดียว ผมเดินเข้าไปในโรงแรมพร้อมกับโบรา ผมหันไปถามโบราถึงค่ารถแต่โบราบอกให้ผมจัดการลงทะเบียนเข้าพักก่อนแล้วค่อยมาคุยกันถึงเรื่องวันรุ่งขึ้นด้วย พนักงานโรงแรมต้อนรับผมด้วยรอยยิ้มและหลังจากผมแจ้งเรื่องพร้อมกับยื่นใบจองให้ดู เพียงชั่วเวลาไม่นานผมก้ลงทะเบียนเข้าพักได้เรียบร้อย และผมถามโบราถึงค่ารถ โบราเสนอว่าเขาจะไม่คิดค่ารถวันนี้ แต่อยากให้เราเช่าเหมาเขาทั้งวันสำหรับวันพรุ่งนี้ ซึ่งผมคิดว่านี่ก็เป็นอีกหนึ่งสเตปที่นักท่องเที่ยวที่มาครั้งแรกต้องเจอ ผมบอกโบราว่าพรุ่งนี้ผมมีไกด์ที่จองไว้แล้ว สีหน้าของโบราดูผิดหวังอย่างเห็นได้ชัด แต่เขาไม่มีทางเลือกอะไร ผมจึงจัดการจ่ายค่ารถให้เขาไปพร้อมกับอวยพรให้เขาโชคดี

ผมขึ้นห้องพักด้วยความเหนื่อยล้า สภาพห้องพักอยุ่ในระดับปานกลางแต่สะอาด บนเพดานมีพัดลมตัวใหญ่ซึ่งผมไม่รู้ว่าจะมีไว้ทำไมเพราะในห้องพักก็มีแอร์อยู่แล้ว หรืออาจจะเป็นของที่ติดมากับสมัยก่อนก็ได้มั้ง ผมจัดแจงอาบน้ำและเริ่มนอนพักด้วยความเหน็ดเหนื่อย และหลังจากนั้นไม่นานผมก็รู้ว่าพัดลมที่ห้องพักนี้มีไว้เพื่ออะไร
ก็เพราะแอร์มันไม่เย็นน่ะสิ


Tuesday, October 21, 2014

Angkor #1 เอกมัย - ปอยเปต



นครวัด ชื่อที่ผมเคยได้ยินและคุ้นหูมาตั้งแต่เด็ก ทั้งได้เห็นรูปภาพจากหนังสือมากมาย ไปจนถึงวลีคลาสสิกอย่าง "See Angkor and Die" ของนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ทำให้ผมซึ่งอยุ่ในช่วงต้องการแรงบันดาลใจ คิดว่าไหนๆก็ไหนแล้ว เราน่าจะลองไปดูสักทีแล้วจะอะไรต่อก็ค่อยว่ากันไป

ผมเริ่มวางแผนทริปนี่คร่าวๆหลังจากหาข้อมูลทางอินเตอร์เนตได้พอสมควร ผมจึงอยากจะลองเดินทางด้วยวิธีที่เขาใช้กันมาดูคือ นั่งรถบัสไปที่ชายแดนแล้วหารถข้ามต่อไปยังเสียมเรียบ ซึ่งรถบัสไปชายแดนหรือตลาดโรงเกลือนั้นเราสามารถเดินทางได้หลายแบบ ทั้งรถบัสที่สถานีขนส่งหรือรถบัสที่ขนคนไปเล่นการพนันที่บ่อนชายแดน แต่ด้วยความที่บ้านผมไม่ไกลจากเอกมัยนัก ผมจึงตัดสินใจที่จะไปที่สถานีขนส่งเอกมัยเพื่อสอบถามข้อมูลการเดินทางล่วงหน้า 1 วันก่อนออกเดินทาง

ที่ช่องหมายเลข 25 ของสถานีขนส่งเอกมัย
ผมเงยหน้ามองตู้กระจกที่แปะป้ายไว้ว่า จำหน่ายตั๋วรถไปอรัญประเทศและโรงเกลือ เมื่อแน่ใจว่านี่คือตู้จำหน่ายตั๋วที่ผมต้องการ ผมจึงเดินเข้าไปพบกับตู้จำหน่ายตั๋วที่ว่างเปล่า ไม่มีคนขาย แต่มีคุณป้าคนหนึ่งยืนอยู่แถวนั้นแล้วถามผมว่า จะไปไหน

"ไปตลาดโรงเกลือเท่าไหร่หรอครับ" ผมถาม
"220 จ๊ะ"
"หรอครับ เอ ผมได้ยินมาว่าที่นี่มีรถไปถึงเสียมเรียบด้วยใช่ไหมครับ"
ป้าขยับตัวมองหน้าผมแล้วตอบว่า
"ใช่แล้วล่ะ ที่นี่มีรถวิ่งไปเสียมเรียบเลย พอลงรถที่ตลาดโรงเกลือจะมีไกด์พาข้ามฝั่งไปต่อรถที่ปอยเปตอีกเที่ยวนึงถึงเสียมเรียบเลยล่ะ"

เมื่อซักถามรายละเอียดปลีกย่อยและรับทราบราคาค่าตั๋ว 600 บาทที่จะนำคุณจากเอกมัยไปเสียมเรียบแล้ว ผมเกิดเอะใจขึ้นมาจึงถามคุณป้าว่า
"รถจากเสียมเรียบที่ว่านี่ไม่ใช่รถบัสใช่ไหมครับ"
"อ๋อ เป็นรถใหญ่กว่ารถตู้หน่อยนึง ไม่ใช่รถบัสหรอก"
"แล้วรถมีออกทุกชั่วโมง ไม่ใช่ออกวันละรอบใช่ไหมครับ" ผมได้ข้อมูลมาว่าที่เสียมเรียบจะมีรถบัสออกวันละรอบราว 4 โมงเย็น
"ไม่ใช่นะ ที่นี่คนครบก็ออกเลย ไม่ใช่รถบัสที่ออกวันละรอบน่ะ"

หลังจากชั่งใจระหว่างจะลงรถที่ตลาดโรงเกลือแล้วต่อแท๊กซี่เข้าเสียมเรียบซึ่งราคาน่าจะราวๆ 35$ หรือซื้อตั๋วรถรวดเดียวถึงเลยดี ผมก็ตัดสินใจที่จะลองวิธีที่ประหยัดค่าใช้จ่ายและอุ่นใจกว่าว่ามีรถต่อแน่นอนด้วยการซื้อตั๋ว 600 บาท รวดเดียวเอกมัยถึงเสียมเรียบดู ดีไม่ดียังไงก็จะได้รู้ไว้เป็นประสบการณ์เผื่อคราวหน้า

วันรุ่งขึ้นผมไปถึงที่สถานีขนส่งเอกมัยประมาณ 8 โมงเช้า เนื่องจากรถที่จะไปถึงเสียมเรียบนั้นมีวันละรอบ คือรอบ 8.30 เท่านั้น ผมจึงไปก่อนเวลาเล็กน้อยและนั่งรอรถอยุ่แถวๆนั้น บริเวณนั้นคนไม่เยอะนัก มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติปะปนกันอยู่ และมีครอบครัวชาวเขมรกลุ่มหนึ่งที่มีเด็กเล็กวิ่งเล่นไปมาอยุ่รอบสถานี ผมลองมองไปที่ท่ารถเห็นคนขับรถเดินลงมาจากรถเพื่อสูบบุหรี่
คนขับเป็นพี่หนวดหน้าดุพูดน้อย ดูพี่แกพูดน้อยจริงๆ แม้จะมีผู้โดยสารมาถามแก แกก็ยังคงความพูดน้อยไว้ให้ผู้โดยสารต้องจับกลุ่มปรึกษากันเอง โดยผมกับผู้โดยสารชาวอินเดียเห็นพ้องต้องกันว่า รถที่เราจะนั่งไปตลาดโรงเกลือมันน่าจะเป็นคันนี้ล่ะนะ

การเดินทางช่วงแรกนี้เป็นไปอย่างปกติ มีการหวาดเสียวเวลาแซงบ้างเล็กน้อยแต่โดยรวมพี่หนวดก็ขับรถได้เรื่อยๆดี เรามีการจอดแวะเก็บผู้คนตามรายทางเป็นระยะ ผู้โดยสารบางคนอาศัยติดรถต่อเป็นระยะทางไม่ไกล นอกจากผู้โดยสารปกติที่ซื้อตั๋วแล้วผมคิดว่านี่อาจเป็นบริการเสริมแบบรถตู้ในเมืองก็เป็นได้
รถวิ่งสลับกับรับคนเป็นระยะจนช่วงเกือบเที่ยง รถจึงเลี้ยวเข้ามาจอดที่สถานีขนส่งสระแก้ว แล้วพี่หนวดก็เดินลงจากรถไปสูบบุหรี่อยู่ข้างล่าง ผมเองซึ่งไม่แน่ใจว่านี่คือการพักรถหรืออะไรแต่อยากเข้าห้องน้ำ จึงลงจากรถและเดินสวนกับพี่หนวดที่สูบบุหรี่ไปได้ครึ่งมวน
"ไปเข้าห้องน้ำแปบเดียว ช่วยรอด้วยนะครับ" ผมบอกกับพี่หนวดก่อนรีบเดินเข้าห้องน้ำ
สักพักเดียวเมื่อเสร็จธุระผมจึงเดินออกมา แล้วก็เห็นว่าตอนนี้พี่หนวดขึ้นไปอยู่บนรถพร้อมสตาร์ทเครื่องแล้ว เอาล่ะสิ พี่แกจะเร่งไปไหนละเนี่ย ผมจึงรีบขึ้นรถอย่างรวดเร็ว เมื่อผมขึ้นรถแล้วพี่หนวดแทบจะปิดประตูในทันที

ผมคิดว่านี่ถ้าไม่ได้บอกพี่แกสักหน่อยว่าขอไปเข้าห้องน้ำ พี่แกคงทิ้งผม(หรือใครก็ตาม)ไว้แน่ๆ
และก็จริงอย่างที่คิดเมื่อครอบครัวชาวเขมรด้านหลังเริ่มส่งเสียงโวยวายกัน บางส่วนผุดลุกผุดนั่งและบางส่วนรีบวิ่งไปหาคนขับ
"จอดก่อนๆ คนยังไม่ครบๆ" ชายวัยกลางคนในกลุ่มนั้นรีบเข้าไปบอกพี่หนวด
"อะไรนะ" พี่หนวดถอยรถออกจากซอง
"คนยังไม่ครบ ลงไปข้างล่างอีกคนนึง" ชายคนนั้นย้ำต่อ
"ไหน อยู่ไหน" พี่หนวดขับรถวนรอบอาคาร
"โน่น อยู่โน่น" ชายคนนั้นมองออกไปนอกรถอย่างกระวนกระวายพลางสอดสายตาหาเพื่อน
"ไม่เห็นเลย ไหนๆ" พี่หนวดพูดพลางขับรถเลี้ยวโค้งไปพลาง และในที่สุดพี่หนวดก็จอดรถแล้วเปิดประตูให้ชายคนนั้นลงไป
ชายคนนั้นวิ่งไปที่ท่ารถพลางกระตุกเพื่อนที่นั่งคุยโทรศัพท์อย่างสบายอารมณ์ แล้วทั้งคู่ก็รีบวิ่งมาขึ้นรถอย่างรวดเร็ว
"คุยอะไร ทำไมลงไปคุยข้างล่าง" พี่หนวดพูดยิ้มๆแบบเหี้ยมนิดๆ แล้วก็ออกรถ

ราวบ่ายโมง เราก็เดินทางมาถึงตลาดโรงเกลือ ผมหยิบป้ายแขวนคอซึ่งป้าที่ขายตั๋วให้มาพร้อมกับตั๋วรถแล้วบอกว่า เมื่อลงจากรถจะมีคนพาข้ามฝั่งไปที่รถอีกคัน ผมเดินลงจากรถไปพบกับไกด์ชาวเขมรผู้ซึ่งพูดไทยได้ ไกด์พาผมไปนั่งในห้องจากนั้นจึงเอาใบเข้าเมืองให้ผมเซ็นแล้วจึงชี้ทางให้ผมไปที่ ตม.ของไทย ซึ่งเป็นอาคารห้องแอร์ มีทางแยกสำหรับพาสปอร์ทไทยและต่างชาติ ซึ่งถ้าคุณถือพาสปอร์ทไทยนั้นคุณสามารถเข้าเมืองเขมรได้โดยไม่ต้องทำวีซ่าเป็นระยะเวลาไม่เกิน 14 วัน ผมผ่านด่าน ตม.ไทยมาได้อย่างราบลื่นไม่มีปัญหาอะไร และไปพบกับไกด์ที่รออยู่ข้างนอก จากนั้นเราเดินผ่านพื้นที่ร่วมส่วนกลางของไทยและเขมรซึ่งมีบ่อนคาสิโนตั้งอยุ่ 2 ข้างทาง เราเดินผ่านกันไปอย่างรวดเร็วเพื่อมาเข้าคิว ตม. ทางฝั่งเขมรซึ่งเป็นอาคารเล็กและแคบ ไม่มีแอร์มีเพียงช่องลมและพัดลมตัวใหญ่อยุ่ 1 ตัว อากาศภายในร้อนระอุมากยิ่งผสมกับกลิ่นตัวและกลิ่นเหงื่อของเหล่านักท่องเที่ยวทั้งหลายแล้ว บรรยากาศยิ่งรัญจวนขึ้นอีก

แถวของ ตม.ทางฝั่งเขมรนั้นใช้เวลามากกว่าของ ตม.ไทยเยอะ อาจจะเพราะทาง ตม.เขมรนั้นคนที่จะผ่านด่านทุกคนจะใช้ช่องเดียวกันหมด นั่นหมายถึงแถว 4 แถวที่กั้นไว้ด้วยกระจกโดยมีช่องว่างให้สอดพาสปอร์ทลอดเข้าไปได้ นักท่องเที่ยวทุกคนจะต้องแสกนนิ้วมือทั้ง 2 ข้าง โดยเริ่มจากแสกนนิ้ว 4 นิ้วก่อน ตามด้วยนิ้วโป้งทั้งมือซ้ายและมือขวา ผมใช้เวลาในการรอขั้นตอนนี้ราวครึ่งชั่วโมงกว่าจึงเสร็จเรื่องและออกมาจาก ตม.เขมรได้ราวๆบ่ายสองโมงครึ่ง จากนั้นจึงเดินไปหาไกด์ที่รออยู่ในฝั่งเขมร ซึ่งระหว่างทางจะมีคนขับแท๊กซี่ (ที่นี่รถแคมรี่ทุกคันคือแท๊กซี่โดยที่ไม่ต้องมีป้ายเขียนไว้ว่าแท๊กซี่) หรือรถตู้พยายามเชื้อเชิญให้เหล่านักท่องเที่ยวไปใช้บริการกับเขา ซึ่งผมและนักท่องเที่ยวอีกกลุ่มต่างก็ปฏิเสธและเราก็เดินขึ้นรถชัตเติ้ลบัสเพื่อไปยังสถานีขนส่งปอยเปต

ชั่วเวลา 10 นาที รถชัตเติ้ลบัสก้แล่นมาจอดที่สถานีขนส่งปอยเปต นักท่องเที่ยวบางคนที่ยังไม่มีตั๋วรถก็จัดแจงซื้อตั๋วซึ่งมีทั้งรถบัส รถแท๊กซี่ และรถตู้ สนนราคาก็ขึ้นกับความรวมเร็วในการเดินทางโดยรถแท๊กซี่จะแพงสุดอยู่ที่ประมาณ 40$ และรถบัสจะถูกสุดอยุ่ที่ราคาประมาณไม่เกิน 10$ แต่รถบัสจะออกเพียงวันละรอบเท่านั้น ผมลองถามไกด์จึงได้ความว่า ไอ้รถที่ผมจะเดินทางต่อก็คือเจ้ารถบัสที่ว่านี่เอง ผมย้อนกลับไปนึกถึงคุณป้าที่ท่ารถแล้วก็แค้นใจว่าทั้งที่อุตส่าห์จะเลี่ยงรถบัสที่ว่านี้แล้วก้ยังต้องมาโดนจนได้ และก็ทำได้แค่ก้มหน้ารับชะตากรรมด้วยการรอไปเรื่อยๆ ซึ่งในระหว่างนั้นจะมีคนขับแท๊กซี่เข้ามาพูดจาหว่านล้อมให้เราไปใช้บริการกับเขาเถอะ เพราะถ้านั่งรถบัสนะ กว่าจะไปถึงก็มืดแล้ว และจะหารถต่อไปที่พักลำบาก ถ้านั่งรถแท๊กซี่นี่ทีเดียวถึงเลย ผมได้แต่รับฟังและเข้าใจ แต่ในเมื่อผมจ่ายค่ารถไปเรียบร้อยแล้วจึงไม่อยากที่จะต้องมาจ่ายอะไรซ้ำซ้อนอีก จึงอดทนนั่งรอต่อไป

สักประมาณ 4 โมง รถบัสจึงเข้ามาจอดเทียบด้านข้างสถานี และนักท่องเที่ยวทั้งหลายก็ค่อยๆทยอยกันขึ้นไปนั่งบนรถ เมื่อนักท่องเที่ยวขึ้นไปนั่งจนครบแล้ว ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นซึ่งไม่ต่างกับให้นั่งรออยู่ข้างล่างเลย เรานั่งรอกันอยู่ราวครึ่งชั่วโมง พนักงานที่ท่ารถจึงขึ้นมาบอกว่า เราจำเป็นต้องรอนักท่องเที่ยวกลุ่มสุดท้ายก่อน ซึ่งตอนนี้ติดอยู่ที่ ตม. นี่เอง คนบนรถต่างครางด้วยความเซ็ง เพราะทุกคนต่างรู้ดีว่าไอ้ขั้นตอนที่ว่านี่มันใช้เวลานานขนาดไหน แต่ในเมื่อไม่มีทางเลือกนักเท่องเที่ยวจึงต้องรอกันต่อไป

ผมหลับๆตื่นๆจนราว 5 โมงเย็น นักท่องเที่ยวกลุ่มสุดท้ายจึงเดินทางมาถึง และเริ่มทยอยขึ้นรถบัสมาเรื่อยๆ จนถึงสาวต่างชาติ 3 คนที่ขึ้นรถมาเป็นกลุ่มสุดท้าย และในที่สุดตอนนี้ที่นั่งบนรถก็เต็มเสียที่ พวกเรา (ผมและนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ) ก็พร้อมที่จะเดินทาง (กันมานานแล้ว) ได้ในที่สุด แต่แล้วจู่ๆ ก็มีเหตุให้สะดุดจนได้เมื่อหนึ่งในสามสาวต่างชาติร้องออกมาว่า

"Where is my seat?"
นักท่องเที่ยวบนรถหันไปมองสาวต่างชาติคนนั้นกันเป็นตาเดียว
"There're 3 people but only 2 seat" เธอพูดต่อพร้อมกับชี้ไปที่นั่งด้านหลังและที่นั่งด้านหน้าซึ่งเป็นที่นั่งสำรองติดประตูรถ
"Where is my seat?" เธอย้ำ
พนักงานขับรถซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีศัพท์อังกฤษในหัวอยู่จำกัดจำนวน ก็มองหน้าสาวต่างชาติคนนั้นเหรอหรา
"Where is my seat? You have only 2 seat for 3 people!"

ตอนนี้บรรยากาศในรถยิ่งมาคุมากขึ้นระหว่างสาวต่างชาติที่ยังไม่มีที่นั่ง กับคนขับที่ไม่สามารถให้คำตอบกับเธอได้และคนทั้งรถที่อยากให้รถเคลื่อนขบวนเสียที
"Where is my seat?" สาวต่างชาติถามเป็นครั้งที่เท่าไหร่ผมจำไม่ได้แต่ตอนนี้น้ำเสียงของเธอเริ่มมีอารมณ์แล้ว
"ok ok" พนักงานขับรถตอบแล้วหันไปส่งภาษาบอกเพื่อนที่อยู่ข้างล่างกันสักพัก แล้วพนักงานขับรถก็วิ่งลงไปข้างล่าง ขณะที่ทุกคนบนรถกำลังสับสนกันว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมจู่ๆพนักงานขับรถถึงลงไปข้างล่าง แล้วเมื่อไหร่เราจะได้ออกเดินทาง พนักงานขับรถก็วิ่งกลับมาพร้อมกับ...เก้าอี้หวายในมือ
"Here is your seat" พนักงานขับรถบอกพลางพยายามวางเก้าอี้หวายตัวนั้นบนช่องทางเดินตรงกลางในรถ

ผมไม่สามารถบรรยายสีหน้าของสาวต่างชาติคนนั้นได้ชัดเจน แต่สังเกตได้ว่าตาของเธอเบิกโพลง และคิ้วของเธอขยับขึ้นๆลงๆตลอดเวลา เหมือนมีอารมณ์โมโหผสมทึ่งปนกับประหลาดใจเข้าอยู่ด้วยกัน ในขณะที่พนักงานขับรถดูจะภูมิใจในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของเขา

ส่วนคนที่เหลือในรถน่ะรึ
ขำกันลั่นรถเลย

แล้วการเดินทางสู่เสียมเรียบก็เริ่มขึ้น